Green report : เร่งขุดบ่อบาดาลแก้วิกฤตแล้ง

View icon 105
วันที่ 17 ก.พ. 2558 | 11.25 น.
News
แชร์
สมุทรสาครเป็นหนึ่งใน 7 พื้นที่ ที่ถูกสั่งขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ป้องกันแผ่นดินทรุด หลังมีการขุดเจาะกันมาก จนเกิดแผ่นดินทรุดให้เห็น

แต่ปีนี้ วิกฤตภัยแล้งรุนแรงหนัก น้ำในบ่อธรรมชาติเหือดหาย มีน้ำเค็มทะลักเข้ามาปะปน วัดค่าความเค็มได้สูงถึง 3.7 PPT มากที่สุดในรอบ 30 ปี จากปีก่อน ๆ ค่าความเค็มของน้ำอยู่แค่ 1-1.5 PPT เท่านั้น

ความเค็มของน้ำ ทำลายแปลงดอกกล้วยไม้ จังหวัดสมุทรสาครให้แห้งเหี่ยวตายไปมาก ที่เหลืออยู่ใบก็เหลือง ดอกเล็ก ส่งออกไม่ได้ จำใจตัดขายปลีกมัดเป็นกำ รายได้หายเกินครึ่ง

แต่น้ำที่กรมชลประทาน นำมาช่วยบรรเทาวิกฤตภัยแล้งแต่ละวันไม่เพียงพอ ที่จะช่วยให้ กล้วยไม้ งอกงามเหมือนเดิม ที่สำคัญยังไม่รู้ว่า ชาวสวนแถบนี้จะได้รับน้ำจาก กรมชลประทานอีกนานแค่ไหน เพราะน้ำที่ลำเลียงมาให้ชาวสวน เป็นน้ำที่เตรียมไว้สำหรับใช้ในปีหน้า

ซ้ำหนัก แหล่งน้ำเดิมที่พอจะมีน้ำเหลือให้ใช้อยู่บ้าง ก็มีสารเคมีที่ถูกปล่อยมาจากโรงงาน มาปนเปื้อนจนใช้ไม่ได้

เมื่อความช่วยเหลือให้รอดพ้นวิกฤตแล้ง น้ำเค็มทะลักไม่เพียงพอ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงต้องยอมฝืนกฎที่เป็นผู้สั่งห้ามขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ยอมให้ชาวสวนกล้วยไม้ ชาวสวนทุเรียน ลิ้นจี่ และอื่นๆ ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มได้ แต่ต้องขออนุญาตขุดเจาะให้ถูกต้องตามระเบียบ ป้องกันแผ่นดินทรุด และเรียกเก็บค่าน้ำบาดาลลูกบาศก์เมตรละ 13 บาท สำหรับผู้ที่ใช้เกิน 50 ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เกิดการประหยัด             

ชาวสวนแม้ต้องจ่ายค่าน้ำบาดาลเพิ่มก็ต้องยอมเพิ่มต้นทุน ดีกว่าปล่อยให้พืชไร่ล้มตายไปต่อหน้าต่อตา