{channel_category} {/channel_category} ข่าวรายงานพิเศษ : พระมหากรุณาธิคุณทรงเปิดรถไฟฟ้าใต้ดิน
{/channel_category}

รายงานพิเศษ : พระมหากรุณาธิคุณทรงเปิดรถไฟฟ้าใต้ดิน

View icon 71
วันที่ 23 ต.ค. 2560 | 16.30 น.
News
แชร์
รถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล เส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อ เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นทางแรกของไทย และได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีความหมายว่า “งานเฉลิมความเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา” เป็นอีกพระมหากรุณาธิคุณที่ประชาชนชาวไทยได้รับ โดยรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ ให้บริการรับ-ส่งประชาชนวันละกว่า 350,000 คน ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเส้นทางที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ถนนรัชดาภิเษก, พระราม 4 ต่อเนื่องไปถึงหัวลำโพง และยังช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนไปยังระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ด้วย ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเดินรถให้ประชาชนด้วยพระองค์เอง

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2542 บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCLในขณะนั้น ได้รับสัมปทาน จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศ แต่ก็พบกับอุปสรรคหลายต่อหลายครั้ง จนเกือบทำให้โครงการรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งวันที่ 13 เมษายน 2547 รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกก็เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเป็นครั้งแรก

และในวันที่ 3 กรกฎาคม 2547 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดเดินรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ซึ่ง นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในสมัยนั้น เป็นผู้นำเสด็จ และกราบบังคมทูลตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโครงการ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการเดินรถ และมีพระราชกระแสรับสั่งถามถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ ก่อนทรงกดปุ่มเปิดเดินรถครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

อีกหนึ่งความประทับใจไม่รู้ลืมของอดีตผู้ว่าการ รฟม. คือพรจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของปวงชน

นับได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนินของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในครั้งนั้น นำมาซึ่งแรงบันดาลใจ ต่อการวางแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน