จากลูกเนียงสด ๆ กินเป็นผักแกล้ม กินคู่กับน้ำพริก ก็ว่าหรอยอย่างแรงแล้ว หลายคนอาจจะยังไม่เคยชิมลูกเนียงแบบที่เป็นของหวาน จะน่าทาน และโอ้โฮขนาดไหน ติดตามพร้อมกันวันนี้
ผมและทีมงาน มาที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ลุงบัติ กับป้าอี๊ด จะพาเข้าสวน เก็บลูกเนียงกัน
สวนลุงบัติ กับป้าอี๊ด อยู่ซะตีนเขาเลย มาช่วงหน้าฝน ก็เลยทุลักทุเลหน่อย เดินดี ๆ ระวังทากน้อยถามหา
ฝนตกลงมาตลอด ชุ่มฉ่ำสมใจ แต่ว่างานเข้า ทั้งเละ ทั้งลื่น
ระหว่างทาง สังเกตทุเรียนป่าหล่นลงมาตามพื้น ทุเรียนป่าที่นี่ต้องรอผลหล่นลงมาเท่านั้นถึงจะกินได้ ส่วนใหญ่เก็บไม่ทัน เป็นอาหารกระรอก ส่วนลูกนี้เสร็จทีมงาน
กัดฟันเดินต่อสักพักก็ถึงแล้ว โอ้โฮ...ลูกเนียงต้นใหญ่และสูงมาก อายุน่าจะหลายสิบปี ปกติชาวบ้านจะปีนขึ้นไปเก็บ แต่ว่าวันนี้ฝนตก ลื่นแบบนี้ไม่เสี่ยง ใช้ไม้สอยเอาดีกว่า
ผลสด กินได้ กลิ่นแรง กลิ่นเฉพาะ กินคู่กับน้ำพริก กินเป็นอาหารคาว
แต่หลายคนยังไม่เคยกินแบบของหวาน นี่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน อำเภอตะกัวป่า จังหวัดพังงา นำมาแปรรูปเป็นขนมหวาน ทานเล่น ๆ "ลูกเนียงต้ม" ผมเองก็ยังไม่เคยกิน
ส่วนขั้นตอนการทำ เขาใช้ลูกเนียงแก่ แกะเปลือกออก เหลือเม็ดด้านใน นำไปแช่ทรายไว้ 1 คืน ชาวบ้านบอกว่าแก้เคล็ด ไม่ให้คนกินเกิดอาการมัด ภาษาใต้เขาเรียกว่าอาการปัสสาวะ หรือฉี่ไม่ออก ประมาณนั้น
หลังแช่ทราย 1 คืน ก็ล้างน้ำให้สะอาด นำไปต้มในน้ำเดือด ใส่หางจาก และเปลือกทุเรียนแห้งลงไปด้วย ห้ามลืมขี้เถ้า เพราะมีฤทธิ์เป็นด่าง ต้มไว้นานสัก 4-5 ชั่วโมง จนน้ำและลูกเนียงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ
ต้มเสร็จแล้วยังกินไม่ได้ ต้องนำมาล้างน้ำให้สะอาด ต้มต่ออีก 1-2 วัน จนกว่าลูกเนียงจะจืดสนิท
ลูกเนียงต้มสีดำสนิท กินเปล่า ๆ รสชาติจืด ๆ ไม่เหมือนกับลูกเนียงที่เราเคยกิน ถ้าจะให้อร่อยต้องโรยมะพร้าวคลุกน้ำตาลทรายแดง มัน ๆ หวาน ๆ กินเพลินดี
ใครอยากจะลอง ขนมลูกเนียงต้ม ของดีอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ก็แวะมาอุดหนุนกันได้ ที่ตลาดใหญ่ตะกั่วป่า มีถนนคนเดิน ถนนวัฒนธรรมเมืองเก่าตะกั่วป่า ทุกวันอาทิตย์