ย้อนดูช่วงเกิดเหตุการณ์คดี “ไร่ส้ม” ขายโฆษณาเกินเวลา 138 ล้านบาท โดยเกิดเหตุที่ อสมท.
- ปี 2548 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ทำสัญญาร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” กับบริษัทไร่ส้ม จำกัด โดยมีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นเจ้าของบริษัทและผู้ดำเนินรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ทางช่อง 9 เป็นสัญญาร่วมผลิตรายการ โดยฝ่าย อสมท.ลงทุนเวลาออกอากาศ (เจ้าของช่องทีวี) ขณะที่ไร่ส้ม ลงทุนผลิตรายการ โดยแบ่งเวลานาทีโฆษณา (Time Sharing) และต่างคนต่างขายในเวลาของตัว และยังเปิดให้ขายโฆษณาเกินเวลาได้ แต่ไร่ส้มต้องจ่ายค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท.ตามราคาที่กำหนด และ อสมท.ให้ส่วนลด 30% โดยบริษัทไร่ส้มได้เวลาสำหรับโฆษณารายการคุยคุ้ยข่าว มี 2 ช่วง คือ จันทร์-ศุกร์ เวลา 21.30-22.00 น.ได้เวลาโฆษณา 2.30 นาที ราคาโฆษณานาทีละ 2.4 แสนบาท และ วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-13.00 น.ได้เวลาโฆษณา 5 นาที ราคาโฆษณานาทีละ 2 แสนบาท
- เดือน กรกฎาคม 2549 อสมท. สังเกตว่ารายการข่าวเที่ยงคืน ออกอากาศช้ากว่าเวลาที่กำหนด จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุ พบว่ามาจาก “ไร่ส้ม” ขายโฆษณาเกินเวลา โดยมีนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ชนาภา บุญโต) พนง.อสมท. ซึ่งมีหน้าที่ลงใบคิวเวลาโฆษณา ไม่แจ้งการขายโฆษณาเกินเวลาของบริษัทไร่ส้มและใช้น้ำยาลบคำผิด ลบคิวโฆษณาเกินเวลาของไร่ส้ม หรือตลอดการผลิตรายการคุยคุ้ยข่าวระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2548 ถึงวันที่ 15 ก.ค. 2549 รวมมูลค่าโฆษณาเกินเวลา 138 ล้านบาท และ วันที่ 20 ตุลาคม 2549 บริษัทไร่ส้มยอมจ่ายเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ อสมท 138 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
- วันที่ 20 กันยายน 2555 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบกรณีไร่ส้ม มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดนางพิชชาภา พนักงาน อสมท.มีความผิดทางวินัยร้ายแรงและมีมูลความผิดทางอาญา,นายสรยุทธ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทไร่ส้ม และน.ส.มณฑา เจ้าหน้าที่บริษัทไร่ส้ม มีมูลความผิดทางอาญาฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิด ระหว่างนั้นนายสรยุทธ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ผู้ดำเนินรายการข่าวช่อง 3 และ ขอสู้คดีในชั้นศาล
- เดือน มกราคม 2558 อัยการสูงสุด มีคำสั่ง “ฟ้อง”คดีบริษัทไร่ส้ม คือนางพิชชาภา (พนักงาน อสมท) นายสรยุทธ และน.ส.มณฑา (บริษัทไร่ส้ม) ตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2502 ม.6 ม.8 และ ม.11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.86 และ ม.91 ตามบทลงโทษคดีนี้ของ นางพิชชาภา คือ ผู้กระทำผิด (เจ้าหน้าที่รัฐ) อัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วน นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบว่ากระทำผิดจริง ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของอัตราโทษผู้กระทำผิด ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทำความผิด
- วันที่ 29 กุมภาพันธ์2559 ศาลชั้นต้น อ่านคำพิพากษาคดีบริษัทไร่ส้มนางพิชชาภา พนักงาน อสมท มีความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ ส่วน นายสรยุทธและน.ส.มณฑา มีความผิดฐานสนับสนุน เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายรวม 6 กระทง โดยมีหลักฐานสำคัญมาจากการสั่งจ่ายเช็คธนาคารของไร่ส้ม ที่มีลายเซ็นนายสรยุทธ เป็นผู้สั่งจ่าย ให้กับนางพิชชาภา จำนวน 6 ใบ รวมมูลค่า 739,770 บาท เป็นค่าตอบแทนที่ไม่แจ้งโฆษณาส่วนเกิน จึงเป็นความผิดคราวเดียวกัน รวม 6 กระทง และนายสรยุทธ ต่อสู้คดีในชั้นศาลว่าไม่รู้จักนางพิชชาภา ไม่เคยติดต่อใครให้ไม่รายงานโฆษณาส่วนเกิน จึงไม่ได้ทำให้ อสมท.เสียหาย และได้จ่ายเงินการขายโฆษณาเกิน 138 ล้านบาท คืนให้ อสมท.แล้วหลังจากมีการตรวจสอบพบ โดยคำพิพากษา ศาลชั้นต้น สั่งจำคุกนางพิชชาภา 6 กระทง กระทงละ 5 ปี รวม 30 ปี ส่วนนายสรยุทธ และน.ส.มณฑา จำคุก 6 กระทงกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาลดโทษให้ 1 ใน 3 นางพิชชาภา จำคุกเหลือ 20 ปี ส่วน นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุก เหลือคนละ 13 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ขณะที่นายสรยุทธ ขออุทธรณ์คดีต่อ พร้อมประกาศยุติการทำหน้าที่พิธีกร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่อง 3 และขอบคุณทุกกำลังใจ เมื่อวันที่ วันที่ 3 มี.ค.2559
- วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีบริษัทไร่ส้ม พิพากษา “ยืนตามศาลชั้นต้น” จำคุกจำเลยทั้งหมด และนายสรยุทธขอสู้คดีต่อที่ศาลฎีกา
- วันพรุ่งนี้ (21 ม.ค. 2563) เวลา 10.00 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีบริษัทไร่ส้ม ที่ใช้เวลาต่อสู้มาเกือบ 10 ปีของสรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่าจะออกมาทิศทางใดต่อไป