คดีนี้ อัยการโจทก์ระบุว่าระหว่างวันที่ 1 มี.ค. - 30 ต.ค.2562 กลุ่มจำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมออมเงินหรือร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1, 4 กับพวก โดยจะได้ผลตอบแทนมากกว่าปกติเป็นพิเศษ ซึ่งมีแผนการตลาดหรือรูปแบบการลงทุนจัดแบ่งออกเป็นวงแชร์ จำนวนการลงทุนวงละ 1,000 บาท จะได้รับผลตอบแทน 930 บาทต่อหนึ่งวง เมื่อครบกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ลงทุนหรือวันที่ฝากเงินมายังบัญชีที่พวกจำเลยแจ้ง โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินที่ลงทุนพร้อมผลตอบแทนกลับไปจำนวนวงแชร์ละ 1,930 บาท
ต่อมา กลุ่มจำเลยได้เปลี่ยนเป็นการลงทุนระยะสั้นดังนี้ โดยลงทุน 400 บาท ได้รับผลตอบแทน 100 บาท เมื่อครบกำหนด 7 วัน โดยจะได้รับคืนเป็นเงิน 500 บาท ลงทุน 400 บาท ได้รับผลตอบแทน 150 บาท เมื่อครบกำหนด 12 วัน จะได้รับคืนเป็นเงิน 500 บาท เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มจำเลยไม่ได้จัดให้มีการออมเงินหรือร่วมลงทุนโดยได้รับผลตอบแทนดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นอุบายหลอกผู้เสียหายรวม 2,533 ราย
ภายหลังกลุ่มจำเลยได้ร่วมกันฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุนกับจำเลยทั้งหมด โดยหลอกว่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่าปกติเป็นพิเศษดังกล่าว มีการออกอุบายวางแผนการตลาดต่าง ๆ หลายครั้ง อ้างว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนสูงกว่าดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ตั้งแต่อัตราร้อยละ 1,116 - 3,040.45 ต่อปี เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ ได้จริงตามที่ประกาศลวง ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ รวมเสียหายทั้งสิ้น 1,376,215,359 บาท ขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานทั้งสองฝ่าย วันที่ 9 มี.ค.2563 นี้