โดยมีเหตุผลดังนี้ 1 เพื่อให้การป้องกันโรคทำได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว ต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่ออย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะใช้ควบคุมโรคจะต้องนำกฎหมายอีก 40 ฉบับ มาประกอบภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงปฏิบัติได้ เพราะไม่ใช่แค่การรักษาในโรงพยาบาลแต่เชื่อมโยงถึงการเดินทาง อากาศยาน การเดินทางเข้าเมือง, 2 เพื่อเตรียมการรองรับในระยะต่อไป โดยการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ4 มีความเสี่ยงสูงกว่าระยะที่ 2 ซึ่งยังเห็นตัวเลขการติดเชื้อเป็นหลักหน่วยดังนั้นตัวกำกับจะหย่อนลงไม่ได้ จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อกำกับการบริหารจัดการที่เหมาะสม, และ 3 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโลกยังไม่สิ้นสุดหลายประเทศยังระบาดสูง เมื่อประเทศไทยจัดทำมาตรการผ่อนคลายครบทั้ง 4 ระยะแล้ว จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ จึงต้องมีมาตรการทางกฎหมายและแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจมีการกลับมาแพร่ระบาดของโรค
นพ.ทวีศิลป์เปิดเผยถึงไทม์ไลน์ชุดใหญ่ที่เป็นขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดทำมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23-27 พ.ค.63 เป็นการจัดทำข้อมูลและประชุมกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลาย จากนั้นในวันที่ 29 พ.ค. 63 จะนำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมศบค.เพื่อขออนุมัติ และบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ในวันที่ 1 มิ.ย.63 แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่ากิจการและกิจกรรมใดบ้างที่จะได้รับการผ่อนปรน สำหรับข้อเรียกร้องให้พิจารณาช่วงเวลาเคอร์ฟิวนั้น หากประชาชนให้ความร่วมมือไม่รวมตัวดื่ม หรือมั่วสุมทำอะไรไม่ดี ไม่ออกจากเคหะสถานโดยไม่มีเหตุผล ก็มีโอกาสที่ศบค.จะพิจารณาปรับลดห้วงเวลาเคอร์ฟิว