ปี 2563 กงล้อประวัติศาสตร์ได้หมุนกลับมาอีกครั้ง เป็นครั้งที่สองที่รัฐสภาและประชาชนมีความพยายามให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนจาก รสช. เป็น คสช. เปลี่ยนจาก ม.211 เป็น ม. 256 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ แตกต่างจากปี 2538 ที่เมื่อวานเต็มไปด้วยความหดหู่ อดสู และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน พร้อมย้ำว่า ความไม่ไว้วางใจต่อรัฐสภา เป็นสิ่งที่ตนรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง พวกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนประชาชนทั้งสิ้น และเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติ แต่แปลกใจที่อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับถูกสมาชิกรัฐสภาลดทอนอำนาจตัวเอง หาช่องทางไม่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และตลกร้ายที่สุด คือ สมาชิกรัฐสภา ไม่ไว้วางใจอำนาจของประชาชน สิ่งนี้ช่างน่าละอาย โดยตลอดการอภิปรายตนเห็นแต่ความสิ้นหวังโจมตีประชาชน รวมถึงการกล่าวหามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง สร้างวัฒนธรรมเดิมๆ สร้างความเกลียดกลัวผี โจมตีว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะพาอดีตนายกฯ กลับประเทศ เพื่อเป็นเงื่อนไขไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มองประชาชนเป็นศัตรู ไว้วางใจให้ประชาชนมีอำนาจไม่ได้
ตนเห็นด้วยกับหลักการทั้ง 11 ข้อ ของไอลอว์ เพราะเป้าหมายคือการสร้างหนทางกลับสู้ประชาธิปไตย ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการแก้รัฐธรรมนูญไทย จึงเป็นเรื่องที่จินตนาการมากเกินไป เชื่อว่าหลายคนคิดว่า มีหลายประเด็นที่ทิ่มแทงไปในดวงใจ แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกเป็นนั่งร้านให้กับผู้มีอำนาจที่หมดความชอบธรรมไปแล้ว การตัดสินใจครั้งนี้ ก็เป็นฟางเส้นสุดท้าย หากรับหลักการร่างฉบับประชาชนความตึงเครียดก็จะลดลง ส่วนข้อครหาที่ว่ารัฐธรรมนูญไทยฉีกง่ายกว่าแก้ ดูเหมือนว่าทหารจะเป็นกลุ่มเดียวที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้ แม้รัฐสภาและประชาชนอยากจะแก้แต่ก็ทำยากเหลือเกิน ดังนั้นพวกเรารัฐสภาต้องยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำได้ และอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน จึงขอยืนวิงวอนต่อหน้าเพื่อนสมาชิกให้รับร่างภาคประชาชนควบคู่กับร่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน