อาคารแห่งนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันของไทย และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและเรียนรู้ในภูมิภาคอาเซียน การวิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน นับเป็นหนึ่งในงานวิจัยชั้นแนวหน้าที่จะช่วยสร้างความรู้ ความเป็นเลิศ และความสามารถ ในการสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากภาวะวิกฤติ และเทคโนโลยีที่แปรเปลี่ยนสู่ความสามารถพึ่งพาตนเองได้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ จึงได้ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันให้อยู่ในนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พุทธศักราช 2563-2570
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ อาทิ งานด้านโบราณคดี ได้ร่วมกับกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี 2557 เน้นการวิจัยและพัฒนา สำรวจวิเคราะห์ และเก็บตัวอย่าง ตลอดจนการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โดยการใช้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอายุ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบส่วนประกอบของวัตถุ ในการศึกษาเรียนรู้อดีตนำไปสู่ความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น, การฉายรังสีเพื่อปลอดเชื้อในประเทศไทย เป็นกระบวนการถนอมอาหารรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เนื่องจากสามารถกำจัดเชื้อโรคและพยาธิในอาหาร โดยประเทศไทยมีการอนุญาตให้ใช้รังสีแกมมา รังสีอิเล็กตรอน และรังสีเอ็กซ์ เพื่อฉายอาหารได้ ปัจจุบันสถาบันแห่งนี้สามารถฉายรังสีได้ครบวงจร ทั้งอาหารสด อาหารแช่แข็ง ข้าวสาร และสมุนไพร รวมทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังได้ร่วมวิจัยใช้รังสีเอ็กซ์ในการฆ่าเชื้อโรคในใบปริญญาบัตรให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และด้านการจัดการกากกัมมันตรังสี ได้ให้บริการจัดการและบริการวิเคราะห์ค่ากัมมันตรังสี ด้วยการส่งเสริมวิจัยและพัฒนาการ ซึ่งเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของกากกัมมันตรังสีออกสู่สภาวะแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต