อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่ากรณี “ลุงพล” ก่อนหน้านี้สื่อบางส่วนมีการนำเสนอข่าวต่อเนื่องนานกว่า 4 เดือน ทั้งที่ไม่มีความคืบหน้าทางคดี แต่ไปเน้นที่บุคคลความดรามาและเรื่องไสยศาสตร์
จนล่าสุดมีการเรียกพยานเข้าเครื่องจับเท็จ ข่าวนี้จึงถูกหยิบกลับมาเสนออีกครั้ง ถือเป็นประเด็นข่าวได้ แต่นอกจากนั้นก็มีประเด็นแทรกอื่นๆ มาจนถึงกรณีการทำร้ายนักข่าว ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดจริง และอาจถือเป็นการคุกคามสื่อ แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้มองย้อนกลับไปถึงการทำงานของสื่อ เพราะต้องอย่าลืมว่าจุดเริ่มต้นของ “กระแสลุงพล” เกิดจากสื่อมวลชนบางส่วนเองที่จุดกระแสขึ้นมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์วิไลวรรณ มองว่ากรณี “ลุงพล” ยังสะท้อนถึงการแข่งขันของสื่อในยุคทีวีดิจิทัลที่มีคู่แข่งมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องมีการเอาตัวรอด แต่ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่จะนำเสนอสู่สังคมในฐานะผู้คัดกรองข่าวสาร
ล่าสุดคดี “น้องชมพู่” และกรณี “ลุงพล” ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ และเกิดข้อขัดแย้งทั้งกลุ่มที่สนับสนุนลุงพล กลุ่มที่ไม่สนับสนุน ไม่จนถึงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอข่าวแบบเจาะลึกชีวิตส่วนตัวของทั้งลุงพลหรือครอบครัวผู้เสียชีวิต และมองว่ากระแสที่เกิดขึ้นสะท้อนความบิดเบี้ยวของสังคมและสื่อได้เป็นอย่างดี และลุงพลเองก็อาจเป็นเหยื่อของสื่อด้วย
ขอบคุณภาพ YouTube : JINTARA CHANNEL OFFICIAL