ที่นี่มีภูมิประเทศเป็นแอ่งกลางแนวเขาภูเวียง เป็นแหล่งที่เคยค้นพบไดโนเสาร์ ทางจังหวัดจึงตั้งชื่อ เกลือสินเธาว์จากตรงนี้ว่า "เกลือไดโนเสาร์แห่งหุบเขาปลาแดก"
หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเกี่ยวข้าว ย่างเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงปลายเดือนเมษายนของทุกปี ในอดีตจะมีชาวบ้านเกือบทุกครอบครัวออกมาสร้างเพิงพัก ขุดบ่อหมักดินเค็ม กลั่นน้ำไปต้มเกลือสินเธาว์ แต่ปีนี้มีเพียงครอบครัวของ พ่อประสาท ทุมแก้ว เท่านั้นที่ยังสืบสานอาชีพผลิตเกลือ
การผลิตเกลือสินเธาว์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ จนได้เม็ดเกลือแต่ละก้อน ต้องใช้เวลาเกือบ 15 ชั่วโมง นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านพากันเลิกลาอาชีพดั้งเดิมไป
เกลือสินเธาว์์ในหมู่บ้านแห่งนี้กำลังจะถูกลืมเลือน คนผลิตเกลือที่หลงเหลืออยู่ก็ย่างเข้าสู่วัยชรา ลูกหลานส่วนใหญ่พากันย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างถิ่น ก็ไม่สนใจสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
ส่วนด้านการตลาดนั้น ยังไม่ขยายวงกว้างนัก จะขายเฉพาะคนในหมู่บ้าน เพราะผลผลิตที่ได้ ยังไม่มากพอที่จะส่งไปขายที่อื่น
เกลือสินเธาว์ เป็นเกลือที่อยู่ชั้นใต้ดิน ไม่มีสารไอโอดีน ใช้วิธีการต้มให้น้ำเค็มตกผลึกเป็นเกลือ เพียงเท่านี้ก็สามารถนำไปปรุงอาหารได้เลย โดยที่ไม่ต้องนำมาบดหรือปั่น ที่สำคัญรสชาติจะไม่เค็มมากนัก ขณะนี้ทางจังหวัดขอนแก่น กำลังเร่งฟื้นฟูวิถีอาชีพคนผลิตเกลือสินเธาว์ เพื่อเชื่อมโยงกับเส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัด
นี่อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นพลิกฟื้นลมหายใจของคนผลิตเกลือสินเธาว์ ที่เหลืออยู่เพียงหมู่บ้านเดียวของจังหวัดขอนแก่น และต่อจากนี้ วิถีการผลิตเกลือสินเธาว์ จะถูกนำมากระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้คนได้รู้จัก "เกลือไดโนเสาร์แห่งหุบเขาปลาแดก" ให้มากขึ้น