มีลุ้นว่ารัฐอาจไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน หลังวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ปมนับอายุความคดีปกครอง เริ่มวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ที่ใช้อ้างอิงในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ จะเดินหน้าต่ออย่างไร รักษาผลประโยชน์ชาติได้หรือไม่ ติดตามจากคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร
เป็นความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิด คดีค่าโง่โฮปเวลล์ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้จ่ายบริษัทโฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท ไม่สามารถใช้บังคับได้แล้ว ในระหว่างนี้จึงมีเวลาหายใจ ยังไม่ต้องจ่ายค่าโง่ก้อนมโหฬารนี้
คอลัมน์หมายเลข 7 พูดคุยกับนักกฎหมายหลายคน ให้ช่องทางการสู้คดีไว้ 4 แนวทาง แนวทางแรกคือ การยื่นศาลปกครองสูงสุด เพื่อรื้อคดีใหม่ ซึ่งสอดรับกับข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน
กูรูด้านกฎหมายหลายคนยังให้มุมคิดตรงกันว่า การรื้อคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ยังมีความเสี่ยง แม้ศาลรับรื้อคดีใหม่ ก็ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่าผลการตัดสินจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุด เคยยกคำร้องขอรื้อคดีมาแล้ว โดยทุกข้อต่อสู้ถูกตีตกทุกประเด็น อาทิ ปัญหาอายุความ และการจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ ไม่เป็นไปตามกฎหมายต่างด้าว และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 หรือ ปว.281
ส่วนแนวทางที่ 2 และ 3 เดินตามรอยคดีค่าโง่คลองด่าน ที่ศาลตัดสินว่ามีการทุจริต จนเป็นเหตุให้มีการพลิกคดีในศาลปกครองสูงสุด ไม่ต้องจ่ายค่าโง่เกือบหมื่นล้านมาแล้ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นฟ้องคดีแพ่งและอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน ในทุกข้อพิรุธที่พบว่ามีการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เอื้อประโยชน์ให้โฮปเวลล์ โดยชี้ให้เห็นว่ามีขบวนการฉ้อฉลที่มีผู้วางแผนมาตั้งแต่ต้น
และแนวทางสุดท้าย ไม่ต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติม รอโฮปเวลล์ฟ้องบังคับคดี แล้วใช้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหลักฐานต่อสู้ว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เนื่องจากมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ปมนับอายุความ ที่ใช้อ้างอิงในคำพิพากษา ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ยังยากคาดการณ์ว่า ปลายทางจะเป็นอย่างไร
ค่าโง่โฮปเวลล์ที่ยังคาราคาซังอยู่ในขณะนี้ ต้องจ่ายหรือไม่ ยังมีอีกหลายด่านที่ต้องฟันฝ่า หวังเพียงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดมั่น พิทักษ์ผลประโยชน์ชาติ รักษาเงินแผ่นดิน
คดีค่าโง่โฮปเวลล์ ไม่ใช่คดีแรก และไม่ใช่คดีสุดท้าย เพราะมีข้อพิพาทระหว่างรัฐ เอกชน อีกหลายคดี ตอนหน้า คอลัมน์หมายเลข 7 ชวนคิด ทำไมโครงสร้างคมนาคม หลังจบครบอายุสัมปทาน ไม่เคยตกเป็นของแผ่นดิน ติดตามได้วันพรุ่งนี้