ในประเทศไทย อัตราการติดเชื้ออยู่ในช่วงขาขึ้น พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยหลักหมื่นคนต่อวัน และอัตราการเสียชีวินหลักร้อยต่อวัน โดยพบว่าการแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์เดลตา ที่มีอำนาจการแพร่กระจายรวดเร็ว และทำให้สัดส่วนของผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้น ทำให้ศักยภาพของโรงพยาบาลเริ่มไม่ไหว จึงได้หันมาเปลี่ยนระบบการรักษามี Home Isolation หรือ Community Isolation ซึ่งต้องทำควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วและมากที่สุด โดยขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 22% ของประชากร
“สถานการณ์การติดเชื้อของไทย ยังไม่ถึงจุดสูงสุดของการระบาด ยังต้องเข้มมาตรการส่วนบุคคล และต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ในเดือน ส.ค.นี้ คาดจะสามารถฉีดวัคซีนได้ 25% ของประชากร ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ จากนั้นให้เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มอื่นๆ เมื่อวัคซีนแสดงประสิทธิภาพ อัตราการเสียชีวิตจะลงลง สถานการณ์ระบาดจะเริ่มดีขึ้นในเดือน ก.ย. หรือ ต.ค.64” ศ.นพ.ประสิทธิ์ระบุ
ส่วนเรื่องความเพียงพอของวัคซีนนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ คาดว่าช่วงเวลานี้ไปจนถึงปลายปีหน้า ยังมีการแย่งวัคซีนในแต่ละประเทศ ซึ่งวัคซีนไม่เพียงพอ การผลิตวัคซีน ยังไม่สามารถทำได้ทันตามความต้องการ ขณะเดียวกันยังอาจถูกซ้ำเติมด้วยการสายพันธุ์ของไวรัสที่กระจายเร็ว ซึ่งวัคซีนรุ่นแรกๆ อาจคุมได้แต่ประสิทธิภาพลดลง และเมื่อต้องการบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 ในขณะที่วัคซีนไม่พอ จึงเป็นประเด็นและเป็นสาเหตุให้องค์การอนามัยโลก ( WHO) ยังไม่แนะนำวัคซีนเข็ม 3 เพราะอยากให้ทั่วโลกได้รับวัคซีนให้เพียงพอก่อน แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ความจำเป็นของของแต่ละประเทศ