เช้านี้ที่หมอชิต

กรมชลประทาน เตือนหลายจังหวัดเตรียมรับมือฝนตกเพิ่ม

เช้านี้ที่หมอชิต - ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุดเมื่อช่วง 04.00 น.ที่ผ่านมา ระบุ พายุดีเปรสชันไลออนร็อก ที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณ สปป.ลาว คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศกำลังแรงระยะต่อไปแล้ว 

เมื่อเวลา 04.00 น. ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2564 เตือนพายุดีเปรสชันไลออนร็อก มีศูนย์กลางอยู่บริเวณแขวงหัวพัน ประเทศลาว พายุนี้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศกำลังแรงในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักบางแห่ง

และยังมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ออกเปิดเผยว่า ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 22 ที่ได้ประเมินสถานการณ์น้ำแล้วพบว่าในช่วงวันที่ 11-16 ตุลาคมนี้ จะมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร และอุบลราชธานี

ส่วนภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และสระแก้ว

ภาคตะวันตก ที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี

ส่วนภาคใต้ จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังตั้งรับมือให้ดีก็คือที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล 

ทั้งนี้จากการคาดการณ์ระดับน้ำในลำน้ำต่าง ๆ บริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน่าน อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยม อำเภอสามง่าม และอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร รวมถึงแม่น้ำชี ช่วงเขตอำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวงทั้งลุ่มแม่น้ำลพบุรี จังหวัดลพบุรี แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขัง โดย อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ถ้าพื้นที่ใดที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังซ้ำซาก ต้องปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ และถ้าเกิดเหตุต้องประสานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือติดต่อสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

สอดคล้องกับแนวทางการบริหารน้ำของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขณะนี้ เจ้าหน้าที่จึงปรับแผนระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมาตรการนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคาที่ผ่านมา โดยทำควบคู่กับกรมชลประทานที่เร่งระบายน้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ป้องกันไม่ให้มวลน้ำจากทั้งสองลำน้ำมาสมทบกัน เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน