ฝุ่น PM2.5 เสี่ยงทำให้ผู้ป่วยโควิดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอยู่ ICU เพิ่มขึ้น

ฝุ่น PM2.5 เสี่ยงทำให้ผู้ป่วยโควิดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอยู่ ICU เพิ่มขึ้น

View icon 103
วันที่ 26 ต.ค. 2564
7HDร้อนออนไลน์
แชร์
หลายวันที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่เพิ่มขึ้น จนอยู่ในระดับอันตราย การกลับมาของฝุ่นช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาถือว่าพึ่งเริ่มต้น เพราะตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ฝุ่นพิษกลับมาเยือนพวกเราอีกบ่อยๆ แน่นอน

ความน่ากลัวของฝุ่นในปีนี้คือ ขณะที่ปัญหาโควิดยังไม่สงบ หลายพื้นที่ ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น งานวิจัยพบว่า ฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมปัญหาโควิดให้หนักขึ้น

งานวิจัยจำนวนมากพบว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้โควิดระบาดมากขึ้น ไวขึ้น คนติดเชื้อง่ายขึ้น เพราะฝุ่นกระตุ้นให้คนไอและจามเพิ่มขึ้น จึงเพิ่มการกระจายของเชื้อ นอกจากนี้ ฝุ่นยังทำให้สุขภาพคนแย่ลง เจ็บป่วยง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มีผลให้เมื่อติดโควิด อาการจึงรุนแรง

ตัวอย่างงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่น PM2.5 กับโควิด 19 เช่น งานวิจัยจาก Harvard T.H. Chan School of Public Health ที่ใช้ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาที่มีฝุ่น PM2.5 หนาแน่น ครอบคลุมประชากร 98% ของประเทศ พบว่า พื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยสูงขึ้น 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ในระดับรุนแรงหรือทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 8%

ดังนั้นในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ หรือในหลายจังหวัดที่ค่าฝุ่นพุ่งติดระดับโลก เสี่ยงทำให้คนติดโควิดเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแน่นอน

หรืออีกงานวิจัยที่ศึกษาปัญหาฝุ่นกับโควิด 19 ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลีระหว่าง 1 ม.ค. - 30 เม.ย. 2020 พบว่าคุณภาพอากาศที่แย่ลง หรือปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อจากโควิด ทั้งผู้ติดเชื้อใหม่ ผู้ติดเชื้อรวม และผู้เสียชีวิต

หรืองานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษากรณีของโรค SARS ซึ่งคล้ายคลึงกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โควิด 19 โดย UCLA School of Public Health ก็พบว่า ประชากรที่ได้รับมลพิษทางอากาศสูงเสี่ยงเสียชีวิตจากโรค SARS เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า

ล่าสุดมีงานวิจัยโดย European Society of Clinical Microbiology and Infectious Diseases ศึกษาในผู้ป่วยโควิด 2,038 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีประวัติพักอาศัยในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูง เสี่ยงเป็นผู้ป่วยวิกฤตจากโควิด 19 เพิ่มขึ้น มีโอกาสใช้เครื่องช่วยหายใจและอยู่ห้อง ICU มากกว่าผู้ป่วยโควิดที่พักอาศัยในพื้นที่ที่มีสถิติค่าฝุ่นต่ำกว่า 2-3 เท่าทีเดียว

อ้างอิงจากจากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ก็ระบุว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เชื้อโควิด 19 ระบาดมากขึ้น อาการผู้ป่วยโควิดรุนแรงขึ้น

กล่าวโดยสรุป แม้ฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่พาหะโดยตรงของเชื้อโควิด แต่ฝุ่นทำให้ปอดของเราอ่อนแอ ทำให้เชื้อไวรัสที่เข้าไปโจมตีปอดง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิต

ทั้งนี้การป้องกันทั้งฝุ่นและโควิดมีหลักการเหมือนกัน เพราะติดต่อผ่านทางเดินหายใจและสารคัดหลั่งเช่นกัน ดังนั้น แม้ฉีดวัคซีนแล้ว เรายังต้องใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงจับใบหน้า ดวงตา ล้างมือบ่อยๆ นอกจากนี้การออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ปอดแข็งแรง เผื่อรับมือหากติดเชื้อโควิดหรือได้รับฝุ่นเข้าไป ก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด หวังเห็นคนไทยสุขภาพดี ปลอดภัยจากโควิดและฝุ่นพิษ