โดยอาศัยอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดถึงกว่า 830,000 คน รองมา คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ กรุงเทพฯ และรอยืนยันข้อมูลอีก 820 คน
แต่เมื่อเจาะลงบนจำนวนผู้พิการกว่า 2,000,000 คน จะพบว่าอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากที่สุด หรือราวกว่า 1,160,000 คน ถัดมาคือกลุ่มวัยทำงาน เริ่มตั้งแต่อายุ 15 – 59 ปี มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 850,000 คน ที่เหลือกระจายอยู่ในกลุ่มวัยอื่นๆ โดยมีภาวะพิการทางการเคลื่อนไหว หรือร่างกายมากที่สุด ยกเว้นกลุ่มปฐมวัยและวัยเรียน เป็นความพิการซ้อนมากที่สุด โดยสาเหตุเกิดความพิการมีทั้งที่แพทย์ระบุไม่ได้ และเกิดจากความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ พันธุกรรม และพิการแต่กำเนิด
โดยหากพิจารณาด้านการใช้ชีวิตของผู้พิการ ซึ่งต้องออกไปในสถานที่สาธารณะต่างๆ เหมือนกับบุคคลทั่วไป จะพบว่า มีกฎหมายและกฎกระทรวงทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย และ พม. ออกมาคุ้มครองดูแลและส่งเสริมให้ผู้พิการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้สะดวกและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
แบ่งไว้ 9 หมวดคือ ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก ทางลาดและลิฟต์, บันได, ที่จอดรถ, ทางเข้าอาคาร, ทางเดิน และทางเชื่อมระหว่างอาคาร, ประตู, ห้องน้ำ, พื้นผิวต่างสัมผัส และอาคารตามที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นชอบจัดสร้างขึ้น
โดยผลการส่งเสริมให้ปรับพื้นที่ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการตามสถานที่ต่างๆ ของรัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศ พบมีเพียงกว่า 5,000 แห่ง ที่ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ที่เหลือยังอยู่ระหว่างปรับปรุง และในอนาคตอาจมีการทบทวนปรับแก้กฎหมาย ให้มีบทลงโทษกับสถานที่ที่ไม่ปฏิบัติตาม
ด้านสวัสดิการสำหรับผู้พิการที่ขึ้นทะเบียน และมีบัตรประจำตัวคนพิการแล้ว มีสิทธิยื่นคำขอใช้สิทธิเข้าถึงสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ
ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 หรือตามกฎหมายอื่น มีด้วยหลายด้าน อาทิ เบี้ยความพิการจะได้รับเงินอยู่ที่เดือนละ 800 บาท และหากมีบัตรคนจนจะได้รับอีก 200 บาท รวมเป็น 1,000 บาท, สิทธิกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ, การให้เงินงบประมาณปรับสภาพที่อยู่อาศัยรายละไม่เกิน 20,000 บาท, การฝึกอบรมอาชีพ, สิทธิเรียนฟรี หรือ สิทธิทางการแพทย์ด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลว่า ยังมีผู้พิการอาจตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการและความช่วยเหลืออีกกว่า 1,600,000 คน
ปัญหาการตกสำรวจไม่ถูกขึ้นทะเบียนผู้พิการ เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่รอการแก้ไข ต้องติดตาม เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ มีชีวิตได้อย่างเท่าเทียมคนกลุ่มอื่นๆ อย่างแท้จริง