นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นใจชาวบ้านและชาวสวนที่ได้รับผลกระทบจากนกปากห่าง จึงจำเป็นที่ภาครัฐและชาวบ้านต้องมาหาจุดสมดุล เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ "อยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่" เพราะหลายที่ทำประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น สวนส้มในพื้นที่ภาคเหนือ
แนวทางที่เคยใช้แล้วประสบความสำเร็จ นอกจากการใช้เสียงดัง ใช้กระจกสะท้อนแสง ใช้ที่ฉีดน้ำแรงดันสูง หรือใช้รถดับเพลิงฉีดไล่นก แต่ต้องทำสม่ำเสมอ ซึ่งเคยทำมาแล้วช่วงสถานการณ์ไข้หวัดนก เมื่อปี 2547 - 2550
ด้านกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่ายังคงจำเป็นต้องให้นกปากห่างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะบางส่วนยังเป็นนกอพยพและมีประโยชน์กับเกษตรกร จากสถิติสามารถกำจัดศัตรูพืช หรือกินหอยเชอรี่ได้ถึง 123 ตัวต่อวัน แต่ยอมรับจำนวนที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบกับประชาชน จึงต้องมีแผนควบคุมประชากรนก การทำรัง วางไข่ ส่วนแผนการเยียวยาช่วยเหลือ กฎหมายเปิดช่องสามารถชดเชยได้
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ย้ำว่าหากได้รับผลกระทบขอให้แจ้งเข้ามาจะดำเนินการจัดการให้ผ่านสายด่วนโทร. 1362
เจาะประเด็นข่าว 7HD ได้สอบทางไปทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่ากรณีนกปากห่างเข้าข่ายเหตุภัยพิบัติ และได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ อธิบดี ปภ. บอกว่ายังไม่มีการบัญญัติไว้เนื่องจากการอพยพของนกเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้นหากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนสามารถร้องไปยังท้องถิ่นอย่าง อบต. ให้ช่วยดำเนินการและส่งเรื่องไปยังอำเภอ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือหรือส่งเรื่องขอความช่วยเหลือไปที่จังหวัด ซึ่งมีงบกลางภัยพิบัติอยู่ 50 ล้านบาท ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน โดยจะมีการพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่