บางตู้ติดตั้งมานานแต่ไม่ได้รับการดูแลจากผู้ประกอบกิจการ มีสนิม มีรูรั่วซึม ผุกร่อน บางตู้ไม่มีฝาปิดช่องจ่ายน้ำ บางตู้มีตะไคร่เกาะที่หัวจ่ายน้ำด้วย และส่วนใหญ่ ไม่ติดฉลากบอกข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน หรือ วัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรอง หรือมีแต่ก็ไม่ครบถ้วน
มีเพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่มีการติดฉลากบอกข้อมูลการเปลี่ยนไส้กรอง 6 เปอร์เซ็นต์ ที่แสดงข้อมูลผลตรวจคุณภาพน้ำในตู้ และมี 41.30 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการบำรุงรักษาและทำความสะอาดถังเก็บน้ำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง
ที่น่าตกใจคือ ในจำนวนตู้ทั้งหมดที่สำรวจ มีเพียง 8.24 เปอร์เซ็นต์ ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ของสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และพบมีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถติดตามพบเจ้าของผู้รับผิดชอบได้
สอดคล้องกับข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่เก็บตัวอย่างน้ำจากตู้กดน้ำ หยอดเหรียญ ทั้งในกรุงเทพมหานคร เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ตั้งแต่ปี 2558-2564 พบว่าคุณภาพน้ำของตู้น้ำหยอดเหรียญ แม้ผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ แต่คุณภาพของน้ำ ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2564 วัดคุณภาพอยู่ที่ 66.23 เปอร์เซ็นต์
สาเหตุที่คุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐาน มีทั้งปนเปื้อนแบคทีเรีย และค่า pH. หรือความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากน้ำผ่านระบบการกรองน้ำหรือ ระบบ RO
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้คุณภาพน้ำจากตู้กดน้ำหยอดเหรียญลดลง นอกจากเรื่องท่อ ที่ต่อผ่านแต่ละครัวเรือนแล้ว อีกปัจจัยคือผู้ประกอบการหรือผู้ดูแลไม่ได้ใส่ใจดูแลทำความสะอาด โดยเฉพาะช่องจ่ายน้ำ รวมถึงไม่เปลี่ยนไส้กรองตามเวลาที่กำหนด ทำให้น้ำปนเปื้อนแบคทีเรีย โดยเฉพาะ โคลิฟอร์ม และฟีคัลโคลิฟอร์ม ที่พบปนเปื้อนอยู่ในน้ำจากตู้มากที่สุด มีผลต่อร่างกายทำให้เป็นไข้ ปวดท้อง และท้องเสียได้
สำหรับประชาชน มีวิธีเลือกใช้ตู้กดน้ำหยอดเหรียญ โดยดูจากสถานที่ตั้ง ลักษณะตู้ และน้ำต้องไม่มีกลิ่น ไม่มีสี หากพบเห็นตู้กดน้ำที่ไม่มั่นใจในคุณภาพ ไม่แน่ใจว่าเป็นตู้ที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย หรือพบเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ประกอบกิจการไม่ได้รับอนุญาตให้แจ้งไปยังส่วนราชการในพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ โดยในกรุงเทพมหานคร แจ้งที่สายด่วน 1555 จะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมายต่อไป