
โดยโครงการนี้เป็นความร่วมกับเหล่าพันธมิตรในการนำเทคโนโลยีระบบ 5G ,Cloud ,AI และ Digital disruption มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพระดับตติยภูมิขั้นสูงของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลแรกของประเทศไทย ที่มีโครงการต้นแบบ ด้วยเทคโนโลยี 5G และ AI ถือเป็นต้นแบบการให้บริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ แก่วงการสาธารณสุขของโลก
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในโครงการนวัตกรรมใหม่ในอนาคต ด้วยเทคโนโลยี 5G และ AI เช่น ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ ระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ระบบผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคล สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ระบบเวชระเบียนกลางด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน และ ระบบขนส่งกลางด้วยรถไร้คนขับ เป็นต้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยก้าวไปอีกขั้น สู่จุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ทางการแพทย์ และความร่วมมือระหว่างไทยและจีน รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะในประเทศไทย ประหยัดเวลาการให้บริการ ลดความเสี่ยงต่อความสูญเสีย และ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนไทย
ขณะที่ ผู้บริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือต่อยอด จากโครงการที่หัวเว่ยช่วยวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G ให้กับโรงพยาบาลเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อให้โมเดลต้นแบบแห่งนี้ ช่วยยกระดับภาคสาธารณสุขของประเทศไทยในอนาคต