ในหนึ่งปี แม่หมู่หนึ่งตัว สามารถให้ลูกได้ 2-3 คอก คอกละประมาณ 10-15 ตัว ซึ่งหมูสายพันธุ์นี้ จะมีลักษณะกินอาหารเก่ง แข็งแรง ทนโรค ให้ลูกดก บางคอกให้ ถึง 18 ตัว ความหวังที่จะมีลูกหมูจำหน่าย ตัวละ 400-500 บาท หมูขุน 1,200-1,500 บาท หายไปหมดหลังรู้ว่าหมูติดเชื้อโรค โดยทางกลุ่มก็ยังไม่เคยพบโรคลักษณะนี้มาก่อน แต่ตอนนี้ทราบผลตรวจยืนยันจาก ทางสำนักงานปศุสัตว์มาแล้วว่า เป็น PRRS
ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จากทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดก็มาทำความเข้าใจแจ้งว่า หากพบว่าเป็นเชื้อโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจะต้องทำลายสุกรทิ้งทั้งหมด ในรัศมี 5 กิโลเมตร และได้รับเงินชดเชย จากการทำลายสุกร มูลค่า 451,410 บาท ได้รับค่าชดเชยร้อยละ 75 คิดเป็นเงิน 338,550 บาท ซึ่งทางประธานกลุ่มแจ้งว่า หากได้รับเงินชดเชยมาก็จะนำมา บริหารภายในกลุ่ม ให้กับผู้ที่ได้ทำลายสุกรไป
ส่วนหนึ่งก็จะนำมาเข้ากลุ่ม ซื้อ แพะ เป็ด ไก่ และควาย มาเลี้ยงแทน โดยกลุ่มจะต้องงดการเลี้ยงหมู่ไปอีก 2 ปี ซึ่งตอนนี้ ทางกลุ่มคงเหลือเพียงคอกร้างที่ว่างเปล่าและได้เริ่มหาแพะมาเลี้ยงแทน และเมื่อได้เงินชดเชยมาแล้ว ก็จะปรับปรุงคอก หมู มาเป็นคอกแพะและคอกควายแทน เมื่อครบกำหนด 2 ปี แล้ว กลุ่มฯจะเลี้ยงสุกรพันธุ์พื้นเมืองหมูดำภูพานอีกครั้ง เพราะเห็นว่าเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ให้ลูกดก และทางกลุ่มก็มีความชำนาญแล้ว จึงยังอยากเลี้ยง แต่จะเอาบทเรียนจากการทำฟาร์มระบบเปิด ให้เป็นระบบปิด เพราะจะได้ไม่เสี่ยงต่อโรค ที่ผ่านมาทางกลุ่มทำฟาร์มเลี้ยงระบบเปิด คนเข้าออก ตลอด อีกทั้งสถานที่เลี้ยงเป็นศูนย์เรียนรู้ ทำให้ไม่สามารถกำหนดพื้นที่เข้าออกได้
สำหรับจังหวัดหนองบัวลำภู ได้รับแจ้งจากทางสำนักงานปศุสัตว์เขต 4 เมื่อเดือน มกราคม 2565 จะได้รับค่าชดเชยจาก การส่งตรวจ สงสัยโรค PRRS ASF และ Classical swinefever ในสุกร จำนวน 6 อำเภอ เกษตรกร 109 ราย สุกร 2,831 ตัว ราคาประเมิน 15,434,340 บาท ราคาชดเชยร้อยละ 75 คิดเป็นเงิน 11,575,755 บาท ซึ่งเกษตรกรจังหวัดหนองบัวลำภู ยังไม่มีใครได้รับค่าชดเชยเลย