นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยัน เมื่อได้รับรายงานเป็นครั้งแรกว่า ในภูมิภาคเอเชียพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อปี 2561 นายกรัฐมตรี ก็ได้สั่งการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดทันที และยกระดับเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เพื่อระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินกว่า 1,500 ล้านบาท ในการป้องกันและควบคุม พร้อมสนับสนุนให้พัฒนาวัคซีน และจัดทำแผนควบคุมโรค จัดตั้ง War Room ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนมาตรการ เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัย และซ้อมแผนรับมือโรคฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ นำข้อมูลการระบาดที่ประเทศจีนและเวียดนามมาทำแผนที่ความเสี่ยง เพื่อใช้ระบุพื้นที่เฝ้าระวัง รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน ขึ้นทะเบียนและประเมินความเสี่ยงด้วยแอปพลิเคชัน อี-สมาร์ทพลัส พร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน
ขณะเดียวกัน ก็สร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่เกษตรกรว่า โรคนี้เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร ทำให้มีอัตราการตายสูง แต่ไม่ติดต่อสู่คน เนื้อหมูยังสามารถบริโภคได้ ซึ่งจะไม่กระทบกับความเชื่อมั่น รวมทั้งการบริโภคหรือส่งออก เพราะทราบดีว่าสามารถพบและมีโอกาสในการเกิดโรคระบาดในสัตว์ ทั้งนี้ ประเทศไทยเองยังมีพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ที่กำหนดมาตรการเยียวยาและชดเชยให้เกษตรกร รวมถึงวิธีปฏิบัติทำลายซากสัตว์ที่ชัดเจน พร้อมยืนยัน รัฐบาลคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสุกร ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของไทย