1. การส่งออกเนื้อสุกรดิบ สำหรับบางประเทศที่ไม่ได้ห้ามนำเข้า กรมปศุสัตว์จะอนุญาตให้ส่งออกต่อเนื่อง โดยมีการควบคุมการผลิตเนื้อสุกร ไม่ให้มีเชื้อ ASF ในสุกรปนเปื้อนในกระบวนการผลิต เช่น การกำหนดให้แหล่งที่มาของสุกร ต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP มีการตรวจหาเชื้อ ASF ในสุกรมีชีวิตก่อนส่งโรงฆ่า และได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายโดยเป็นไปตามแนวทางข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออกจะมีสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสุกรทุกฟาร์ม (100%) เพื่อเฝ้าระวังเชื้อ ASF ในสุกรปนเปื้อนก่อนอนุญาตให้ส่งออก หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารของคน หรืออาหารสัตว์เลี้ยง
2. สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรปรุงสุก OIE ได้กำหนดเงื่อนไขการทำลายเชื้อไวรัส ASF ในสุกร ดังนี้ การทำลายเชื้อไวรัส ASF ในเนื้อสุกรต้องผ่านความร้อน 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที หรือ อาหารกระป๋อง F0≥ 3 หรือเนื้อสุกรผ่านการหมักด้วยเกลือและตากแห้งอย่างน้อย 6 เดือน และใน casing จากสุกรต้องหมักเกลือหรือน้ำเกลือ (Aw < 0.8) หรือสารประกอบเกลือฟอสเฟต 86.5%NaCl + 10.7%Na2HPO4 + 2.8%Na3PO4 เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน
3. ในกรณีที่บางประเทศมีการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเป็นการเฉพาะ กรมปศุสัตว์จะเร่งเจรจากับหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศนั้น ๆ เพื่อขอส่งสินค้าเนื้อสุกรปรุงสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร ให้ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น สำหรับส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์แปรรูปผ่านความร้อน ประเทศสิงคโปร์มีข้อกำหนดต้องมาจากประเทศที่ต้องปลอดจากโรค ASF ในสุกรอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนวันเชือดและวันส่งออก ประเทศฟิลิปปินส์กำหนดห้ามการนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากประเทศที่มีรายงานโรค ASF ในสุกร สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็น/แช่แข็ง ในฮ่องกงมีข้อกำหนดเนื้อสุกรต้องมาจากสุกรมีชีวิตในพื้นที่ปลอดจากโรค swine fever ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตาม Health certificate ในอินเดียกำหนดให้ต้องมาจากประเทศที่ต้องปลอดจากโรค ASF ในสุกรหรือสำหรับประเทศที่พบ ASF ในสุกรหากมีแผนเฝ้าระวังและมีการกำหนดพื้นที่ปลอดโรคตาม OIE สามารถส่งออกเนื้อสุกรสดได้ เป็นต้น
4. สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรดิบ และสินค้าเนื้อสุกรปรุงสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร ในปี 2565 จะพิจารณาจากท่าทีและเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าที่จะมีการกำหนดเพิ่มเติมอย่างไร และปัจจัยอื่น ๆ เช่น สถานการณ์โควิด 19 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 การส่งออกน่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาโดยส่งออกประมาณ 23,000 ตัน มูลค่า 3,646 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกสุกรมีชีวิตนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพง ภาครัฐได้มีการแก้ปัญหาโดยมาตรการระยะเร่งด่วนกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม – 5 เมษายน 2565) ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพิจารณาถึงแนวทางให้เหมาะสมตามสถานการณ์ต่อไป