ทีมข่าวตีตรงจุดติดตามปัญหาถนนเส้นนี้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2564 ซึ่งเวลานั้นเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้มต่อหน้าต่อตาทีมข่าว และจนถึงปัจจุบันยังมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นเครื่องยืนยันว่า ถนนกำแพงเพชร 6 หรือถนนเลียบทางรถไฟช่วงดอนเมือง-หลักสี่ ใต้แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง ระยะทางราว 15 กิโลเมตร มีปัญหาทางกายภาพ จนส่งผลต่อผู้ใช้รถใช้ถนนเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ทั้งถนนที่เป็นลูกคลื่น จุดที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งตลอดถนนสายนี้พบว่ามีรถสัญจรจำนวนมาก แต่ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. สั่งให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด มหาชน เร่งแก้ไขปัญหาถนนเป็นลูกคลื่น โดยให้คำมั่นว่าจะแล้วเสร็จใน 2 เดือน
จุดแรกที่เริ่มมีการกำหนดซ่อมแซมเริ่มเมื่อวานนี้ (25 ม.ค.) เป็นวันแรก คือ บริเวณช่วงสะพานรถยนต์ กิโลเมตรที่ 22+642 จนถึงแยกนายใช้ และกิโลเมตรที่ 23+800 ซึ่งเป็นจุดที่ลูกคลื่นชัดเจน แบริเออร์ทรุดโค้งเป็นท้องเต่า และยังมีจุดอื่น ๆ อย่างบริเวณช่วง สน.ดอนเมือง ถึงแยกนายใช้ บริเวณใต้สถานีดอนเมืองตลอดแนว และจากสถานีการเคหะถึงหน้าสำนักงานเขตดอนเมือง ซึ่งข้อกำหนดที่ผ่านมาการซ่อมแซมถนน เป็นของเจ้าของสัมปทานช่วงนั้น ๆ ซึ่งคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน และยังอยู่ในประกัน ซึ่งตามหลัก หากบริษัทผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ จะมีการทำเรื่องคืนพื้นผิวจราจรให้กับ รฟท.
ขณะที่ข้อมูลจาก นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า สาเหตุที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการ เพราะยังอยู่ในระหว่างการเร่งประชาสัมพันธ์ชาวบ้านในพื้นที่ และนำป้ายสัญญาณต่าง ๆ มาติดตั้งเพื่อบอกเส้นทางเลี่ยง และวางระบบเรื่องความปลอดภัยและการปิดถนน ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยกำหนดร่วมกันว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ส่วนระยะยาวจะส่งมอบถนนให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้ดูแลรับมอบจากการรถไฟฯ นำไปปรับปรุงแก้ไขตามแนวทางหลักเทคนิควิศวกรรรม เนื่องจากการรถไฟไม่มีภารกิจและความเชี่ยวชาญด้านถนน
ขณะที่ประชาชนที่ใช้เส้นทางนี้เป็นประจำ ยังมีความคาดหวังว่าจะได้ใช้ถนนที่ผิวถนนเรียบเสมอกัน ไม่เป็นลูกคลื่น เพราะที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แม้จะรู้ว่าพื้นที่นี้มีปัญหามาช้านาน และผ่านการซ่อมแซมหลายครั้ง แต่ก็จะกลับมาเป็นแบบเดิมทุกที
ประชาชนบางส่วนทราบเพียงว่าจะมีการปรับปรุงถนน แต่ไม่ทราบวันเวลาที่แน่ชัด ส่วนที่มีความจำเป็นต้องปิดจุดกลับรถบางจุดเพื่อดำเนินการซ่อมแซม บางส่วนเห็นด้วยที่จะปิดเพื่อแลกกับความปลอดภัยในชีวิต หากต้องย่นระยะเวลาแต่ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายก็คงไม่คุ้ม
ทีมข่าวลองเปรียบเทียบถนนหลายจุดที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ พบว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก อย่างถนนเลียบทางรถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ระยะ 2.8 กิโลเมตร ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ตลอดทางสิ่งที่พบส่วนใหญ่คือผู้ขับขี่จะขับขี่รถชิดขวา เพื่อหลบจุดที่เป็นฝาท่อ และจุดที่ถนนผ่านการซ่อมแซม บางจุดฝาท่อไม่สนิทเวลารถเหยียบก็จะกระดกขึ้นมาเสี่ยงต่ออันตราย ซึ่งจุดนี้ผู้ดำเนินงานคือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
อีกจุดคือ ถนนเลียบทางรถไฟฟ้ามหานคร หรือ MRT สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร เป็นถนนใต้รางรถไฟเช่นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะถนนช่วงถนนวงแหวนรอบนอก (ตะวันตก) กาญจนาภิเษก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนสายใหญ่เรียบเสมอกันสามารถทำความเร็วได้สม่ำเสมอ และอีกจุดคือถนนกรุงเทพมหานคร-นนทบุรี ที่เป็นถนน 2 เลน แต่มีความเรียบของพื้นถนน ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ และเป็นทางยาวไปจนถึงปลายสายสถานีรถไฟฟ้าเตาปูน โดยมีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ หลายคนจึงตั้งคำถามดัง ๆ ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่าคุณภาพชีวิตและคุณภาพถนนที่เรียบเนียน สะดวกสบายในการเดินทาง พวกเขาต้องรอไปจนถึงมีการทำเรื่องส่งมอบพื้นผิวถนนจากผู้รับเหมาทุกครั้งใช่หรือไม่ แล้วจะมีอะไรการันตีว่าหากคืนถนนแล้ว ถนนจะเรียบน่าใช้ ในเมื่อที่ผ่านมาชาวบ้านอยู่กับปัญหาเรื้อรังนี้มานาน