การพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่ อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 คน ถ้าเกินก็แสดงว่ายังรุนแรงอยู่ ประชาชนต้องมีภูมิต้านทานเพียงพอ ด้วยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม 80% ของประชากร ที่สำคัญระบบการรักษาพยาบาล ที่มีประสิทธิภาพรับมือการระบาดได้
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีแนวความคิดว่า โควิด-19 ระบาดมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว และลักษณะการระบาดมีทิศทางดีขึ้น อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่มีลักษณะรุนแรง และเป็นตามหลักวิชาการ จึงต้องบริหารจัดการให้โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น
หลังจากที่หลักเกณฑ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทาง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ข้อความ ถามถึงความพร้อมในการบริหารจัดการโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ได้แก่
1.โควิด-19 ไม่ได้อยู่ในโรคติดต่ออันตราย?
2.ไม่ต้องมีการตรวจคัดกรอง หรือ แยกกักตัว?
3.ไม่ต้องมีการรายงานสถานการณ์?
4.ถ้าเป็นการรักษาต่อไปนี้ ให้ใช้สิทธิของแต่ละคนรักษาเหรอ เช่น ผู้ติดเชื้อใช้สิทธิบัตรทองของตนเองรักษา
5.ไม่ต้องมีการชดเชย เยียวยา การประกอบธุรกิจค่าเสียหาย?
6.การตรวจที่เกี่ยวกับโควิด-19 หลังจากนี้ ต้องเสียเงินเอง?
7.วัคซีนที่ใช้อยู่ในตอนนี้ เป็นวัคซีนที่ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน สำหรับประเทศไทยแล้ว หากพบกรณีได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 ยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ จาก สปสช. หรือไม่?
ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่ หมอธีระวัฒน์ อยากเห็นการชี้แจง เพื่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน ก่อนที่จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น
สำหรับการปรับให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น หมายถึง กรณีที่โควิด-19 ยังไม่หายไปไหน แต่จะกลายเป็นโรคติดเชื้อตามฤดูกาล เหมือนไข้หวัดใหญ่