เจาะประเด็นข่าว 7HD

ตีตรงจุด : ลุ้นกฎหมายฟอกอากาศ ฟอกคุณภาพชีวิตคนไทย

เจาะประเด็นข่าว 7HD - ตีตรงจุดวันนี้ ชวนมาร่วมกันออกกฎหมายฟอกอากาศ เพื่อฟอกคุณภาพชีวิตคนไทย หลังมลพิษนับวันจะรุนแรงมากขึ้น จะผลักดันกันอย่างไร เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จะได้รู้ครบ จบในช่วงนี้

ทีมข่าว 7HD ลงพื้นที่ไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ถึงความรู้สึกที่มีต่อคุณภาพอากาศในกรุงเทพ หลายคนบอกว่ารู้สึกแย่กับคุณภาพอากาศที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน และมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตั้งแต่เจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ บางคนบอกว่าเคยถึงขั้นไม่สบายจนต้องเข้าโรงพยาบาลมาแล้ว และเห็นด้วยหากภาครัฐจะมีมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

เรื่องฝุ่น PM2.5 ถูกพูดถึงน้อยลงในช่วงที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์โควิด-19 แต่ต้องยอมรับคนไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพอากาศ เพราะจากข้อมูลคุณภาพอากาศ และการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลกของเว็บไซต์ IQAir ในปี 2564 กรุงเทพฯ ก็ยังคงติดอันดับที่ 11 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดของโลก

ขณะที่ข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project พบว่าตลอดทั้งปี 2564 คนกรุงเทพฯ มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่กับอากาศที่มีคุณภาพดี เพียงแค่ 90 วัน อยู่กับอากาศที่มีคุณภาพปานกลาง 202 วัน อากาศที่มีผลต่อสุขภาพของกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 61 วัน และอยู่กับอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากถึง 12 วัน 

โดยเดือนมกราคมถือเป็นฝันร้ายของคนกรุงเทพฯ เพราะเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุด ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์คุณภาพสีเขียวเลย ค่าฝุ่นสูงสุดระดับสีแดงสูงถึง 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ และเด็ก ยังไม่นับรวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญกับเรื่องของฝุ่น PM2.5 เช่นเดียวกัน จากปัจจัยสาเหตุต่าง ๆ เช่นเรื่องของฝุ่นควันจากท่อไอเสีย และไฟป่า

ในหลายประเทศมีกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลปัญหามลพิษทางอากาศ แต่ในประเทศไทยไม่มี มีเพียงกฎหมายแกนกลางอย่าง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ปี 2535 แต่ก็ใช้ได้ไม่เต็มที่ เพราะมีกฎหมายอื่น ๆ ประกอบ ยากที่จะบูรณาการทำงานร่วมกัน ไม่มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบปัญหามลพิษทางอากาศโดยตรง หรือรับผิดชอบแท้จริง ทั้งที่เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยแค่หน่วยงานเดียว

โดยตั้งแต่ปี 2563 มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายจัดการปัญหามลพิษและอากาศสะอาด เข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา 5 ฉบับ ซึ่งมีทั้งร่างที่ภาคประชาชนเป็นผู้ยื่น และร่างของ สส. ทั้ง 5 ฉบับสาระสำคัญสอดคล้องกัน คือพูดถึงสิทธิของประชาชนในการได้รับอากาศสะอาดจำนวนนี้มี 2 ฉบับแรก ถูกปัดตกไปแล้ว เพราะเป็นกฎหมายทางการเงิน ไม่ผ่านขั้นตอนเสนอนายกรัฐมนตรี

ทำให้ตอนนี้ยังมีเพียงแค่ 3 ร่าง ที่ยังอยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการรัฐสภา หากมีการตีความว่าเข้าลักษณะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน และไม่มีการคัดค้าน ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนส่งต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณารับรองต่อไป

1 ใน 3 นั้นคือร่างกฎหมายของเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ที่เกิดจากการรวมของนักวิชาการและภาคประชาชน ที่เรียกร้องสิทธิในชีวิตและสุขภาพ โดยยื่นต่อประธานสภาไปเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา สาระสำคัญ 8 ข้อ คือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับอากาศสะอาด โดยรัฐมีหน้าที่คุ้มครองและปกป้องสิทธิของประชาชน, ต้องบูรณาการมิติด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปควบคู่กัน และการทำงานร่วมกับภาคประชาชน โดยให้ประชาชนเป็นฐานหลัก รัฐสนับสนุนส่งเสริม, สร้างแรงจูงใจควบคู่ไปกับการลงโทษ เช่น มาตรการลดภาษี ส่งเสริมเทคโนโลยีเผาแบบไม่มีควัน, สร้างรูปแบบการแก้ปัญหาให้เหมาะกับบริบทของปัญหาแต่ละพื้นที่ และเพิ่มหมวดความผิดมลพิษข้ามแดน สามารถเอาผิดผู้เป็นต้นเหตุหมอกควันพิษนอกประเทศได้ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนสามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ด้วย

อากาศสะอาดไม่มีขายในร้านสะดวกซื้อ อยากสูดลมหายใจได้อย่างสบายใจ ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม และหากต้องการมีกฎหมายฟอกอากาศ มาฟอกคุณภาพชีวิตคนไทย ก็ต้องช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลมองเห็นปัญหาและเร่งทำคลอดให้กฎหมายออกมามีผลบังคับใช้โดยเร็ว