นพ.ศุภกิจ กล่าวว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นเป็นปกติ มีทั้งการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ขึ้นไปในคนๆ เดียว การติดเชื้อลักษณะนี้บ่อยๆ จะทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ หรือไฮบริด เป็นเชื้อ 2 ตัวในไวรัสตัวเดียว ระบบจะให้ใช้ “X” นำหน้าใช้ไปแล้ว 17 ตัวอักษร (XA-XS) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ยกตัวอย่าง “XA” พบตั้งแต่ ธ.ค.63 เป็นอัลฟาผสมกับสายพันธุ์ย่อย หรือ “XB” เกิดตั้งแต่เดือน ก.ค.63 แต่เป็นการกลายพันธุ์ที่ไม่มีความหมาย เพราะไม่ได้รุนแรงหรือดื้อวัคซีน รวมถึง “XC” เดลตา+อัลฟา พบในญี่ปุ่น ช่วงกลางปี 64
“ขณะนี้มีเพียง “XA-XB-XC” 3 ตัวเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจริง ส่วนตัว “X” อื่นๆ หรือ XD-XS ยังต้องรอวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่ม แม้แต่การผสมระหว่าง BA.1 กับ BA.2 มีหลายตัวเพราะรหัสพันธุกรรมต่างกัน ตำแหน่งผสมไม่เหมือนกัน”
นพ.ศุภกิจ กล่าอีกว่าในประเทศไทย เรามีคนป่วยถอดรหัสพันธุกรรม พบ “XE” 1 คน พบที่ รพ.รามาฯ ส่วนกรมวิทย์ฯ พบ 1 คน ใกล้เคียงกับ “XJ” ที่พบในฟินแลนด์ มากกว่า “XE” ที่พบในอังกฤษ โดยผู้ป่วยคนนี้เป็นคนไทย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่ง ส่งของออนไลน์ ทำให้พบเจอคนหลากหลาย จึงมีโอกาสติดเชื้อแล้วเกิดการกลายพันธุ์ไฮบริด เชื้อผสมพันธุ์ในตัวเอง มากกว่าคนในกลุ่มอาชีพอื่น โดยผู้ป่วยคนนี้ตรวจพบเชื้อวันที่ 22 ก.พ.65 ที่ รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม แต่สุดท้ายจะเป็น “XE” หรือ “XJ” ยังต้องรอการวิเคราะห์ยืนยันข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ในประเทศอังกฤษ พบว่า “XE” เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อย BA.2 พบว่าแพร่เร็วเพิ่มขึ้นขึ้น 10% ทำให้องค์การอนามัยโลก แนะนำให้จับตาว่าแพร่เร็ว รุนแรง หลบภูมิหรือไม่ ขณะนี้จึงอย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเกิดเหตุ