สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 40.69 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 21.81 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง เวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 17.01 – 18.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,895 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,134 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 372,032 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 59,049 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 16,503 ราย ไม่มีใบขับขี่ 15,366 ราย
ศปถ.ยังสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 11 – 17 เมษายน 2565) พบเกิดอุบัติเหตุสะสมรวม 1,917 ครั้ง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (66 ครั้ง) ผู้บาดเจ็บสะสมรวม 1,869 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (63 คน) และผู้เสียชีวิตสะสมรวม 278 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13 คน) ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตรวม 6 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ปัตตานี ยะลา ระนอง สมุทรสาคร และสิงห์บุรี
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 พบว่าจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสถิติผู้เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุมีอัตราที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขับรถด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งในช่วงสงกรานต์ปีนี้ จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าเฉลี่ยสถิติอุบัติเหตุทางถนนย้อนหลัง 3 ปี สำหรับสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ รวมถึงจักรยานยนต์ เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด