แรงงานทั้งชายและหญิง พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือช่าง ทยอยเดินทางมุ่งหน้าสู่ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง หรือถนนกีบหมู เพื่อรอนายจ้างที่จะเดินทางเข้ามาเลือกหาแรงงานช่างไปทำงาน
ทำให้ตลอดทั้งสายของถนนเส้นนี้ เริ่มมีชีวิตชีวาและคึกคักตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง จนเป็นที่รู้จักกันดีว่า ที่นี่คือตลาดแรงงาน ที่รวมแรงงานสายช่างไว้มากที่สุด
ไม่ใช่เพียงแค่แรงงานที่ต้องพกความหวังเดินทางมารอคอยนายจ้างเท่านั้น แต่นายจ้าง ทั้งที่เป็นผู้รับเหมา และนายหน้าหาคนงาน หลายคนก็มาด้วยความหวังว่าจะได้แรงงานไปทำงาน แม้บางครั้งจะไม่ใช่เรื่องง่าย
แรงงานหลายคนที่นี่อาจจะโชคดี แต่สำหรับอีกหลายคน วันนี้อาจจะไม่ใช่วันของพวกเขา เพียงไม่ถึง 8 โมงเช้า ความคึกคักก็เริ่มซาลง ตลาดแรงงานเริ่มวาย ใครที่ยังไม่ถูกนายจ้างมาเลือกไปทำงาน ก็พอที่จะรู้ชะตากรรมของตัวเองในวันนี้ได้ว่า คงต้องกลับบ้านไปมือเปล่า
แรงงานที่กีบหมู เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของแรงงานนอกระบบ ที่ไม่เคยได้เข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐ ความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน แตกต่างกับแรงงานที่อยู่ในระบบ
จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ชี้ให้เห็นว่าอัตราการจ้างแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคม มีจำนวนสูงถึง 19.6 ล้านคน หรือร้อยละ 52 เป็นจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดในประเทศ
ปัญหาหลักจากการทำงานที่พวกเขา ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องค่าแรงและความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ แรงงานนอกระบบเหล่านี้จะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน มองว่าแนวทางการช่วยเหลือ ควรที่จะต้องเพิ่มศักยภาพให้สามารถทำงานได้หลายอาชีพ เพื่อทำให้ทักษะเป็นทรัพย์สินที่มีค่า ยกระดับโครงสร้างงานบริการและการดูแล ทำให้เป็นงานของสังคม มีค่าจ้างที่เป็นธรรม และการปรับระบบประกันสังคม ให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันกำลังมีการผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริม - คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งจะถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ที่ออกมาเพื่อดูแลแรงงานนอกระบบ เป็นความหวังว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น และมั่นคงมากกว่าเช่นในปัจจุบัน