ประชากรแฝงที่เข้ามาหาโอกาสทางเศรษฐกิจในเมืองหลวง หากอ้างอิงจากประชากรแฝงกลางคืนโดยภาพรวมของทั้งประเทศ ส่วนใหญ่มีสถานภาพการทำงานเป็นลูกจ้างเอกชน รองลงมา คือ ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง ช่วยธุรกิจในครัวเรือน เป็นลูกจ้างรัฐบาล และสุดท้าย คือ ผู้ประกอบการ วันนี้ ตีตรงจุด พาไปติดตามชีวิตพ่อค้าแม่ค้าในชุมชน ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ อยู่ไม่น้อย
ทีมข่าวลงพื้นที่ชุมชนซอยโรงภาพยนตร์กรุงสยาม เขตบางเขน เพราะได้ยินมาว่า คนในซอยนี้ทำอาชีพขายผลไม้เกือบทั้งซอย และทั้งหมดชวนกันมาจากต่างจังหวัด บางคนอยู่มาหลายสิบปีแล้ว
ป้าทอง เปล่งสี หนีความแห้งแล้งมาจากจังหวัดชัยภูมิ เริ่มต้นจากการรับจ้างเย็บผ้า จนมาสู่อาชีพแม่ค้าได้ประมาณ 4 ปี ก่อนโควิด-19 จะระบาด การค้าขายเป็นไปด้วยดี ตอนนี้เริ่มฝืดเคืองแต่ก็ต้องสู้ แม้วันไหนฝนจะตก แดดจะออก แต่ปากท้องสำคัญกว่า
เช่นเดียวกับ นายนิพนธ์ ดอชนะ อายุ 30 ปี เริ่มขายผลไม้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะเชื่อว่ารายได้ดีกว่าทำงานโรงงาน
ส่วน ลุงสมนึก ชาวจังหวัดมหาสารคาม ทิ้งอาชีพทำไร่ทำนามาขายผลไม้กว่า 20 ปี แม้จะยาวนานแต่ ลุงสมนึก ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนกรุงเทพฯ
นอกจากขายผลไม้สด ยังมีกระเพาะปลา ก๋วยเตี๋ยว หรือแม้กระทั่งสลากกินแบ่งรัฐบาล เรียกได้ว่าเป็นชุมชนของคนค้าขายเลยก็ว่าได้ แต่ภายใต้การทำมาหากินที่ดูจะเรียบง่าย พวกเขาก็มีความกังวล โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ หากเจ็บป่วยหนักในเมืองที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเองจะทำอย่างไร โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้
ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า หากไม่ต้องการให้ประชากรแฝงเกิดการกระจุกตัว จนมีปัญหาสังคมตามมา การพัฒนาเมืองรองสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนในภูมิภาคต่าง ๆ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยได้
อีกหนึ่งปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีประชากรแฝงจำนวนมาก คือ การรับบริการสำคัญ ๆ ที่อาจมีความหนาแน่น หรือไม่ทั่วถึง แต่อีกมุมหนึ่งการมีประชากรแฝงก็สะท้อนถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งนั่น คือ ความท้าทายที่ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร คนใหม่จะต้องบริหาร ให้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ทุกคน ได้รับบริการที่เท่าเทียมกัน
ติดตามทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ : www.ch7.com/bangkokelection