เจาะประเด็นข่าว 7HD

ตีตรงจุด : เช็กศักยภาพคลองระบายน้ำเมืองกรุง ส่อพ้นน้ำรอการระบาย

เจาะประเด็นข่าว 7HD - เจาะประเด็นข่าว 7HD ตีตรงจุด ตามต่อเรื่องหนักอก คนกรุงเกี่ยวกับน้ำรอการระบาย ที่มีอีก 1 ระบบเป็นกลไกป้องกันน้ำท่วม คือ คูคลองสายต่าง ๆ ไปตรวจสอบกันว่า วันนี้คลองต่าง ๆ พร้อมรับมือกับน้ำหลาก น้ำฝน และน้ำทะเลหนุนกันหรือยัง

วันนี้เราจะไปตรวจสอบระบบคูคลองใน กทม. แต่คลองที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนรุกล้ำแบบที่เห็นด้านข้างผมนี้ ก็ยังเป็นจุดอ่อนทำให้การใช้คลองสำหรับลำเลียง และระบายน้ำให้ไปออกจากพื้นที่ กทม. และการใช้เป็นพื้นที่รับน้ำฝนก็ยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน

แต่ก่อนอื่น อยากพาคุณผู้ชมไปตรวจสอบภาพใหญ่ในแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี หรือช่วงปี 2561 - 2580 ของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. มีด้วยกัน 6 ด้าน คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค  2.การสร้างความมั่นของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6. ด้านการบริหารจัดการ ซึ่งในจำนวนนี้จะเกี่ยวกับการบริหารจัดการของ กทม. ใน 3 ด้าน ตั้งแต่ข้อ 3 - 6

โดย กทม. ได้เสนอ 5 แนวทาง สำหรับแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อ ต่อ กนช. แต่เราจะลงรายละเอียดเฉพาะข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาคลองระบายน้ำสายหลัก เพื่อเป็นแก้มลิง ระบายน้ำฝนและน้ำหลาก และช่วยลำเลียงน้ำเข้าสู่อุโมงค์ระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น

ซึ่งก่อนนี้หน้าสำนักการระบายน้ำของ กทม. เคยให้ข้อมูลว่าพื้นที่กรุงเทพฯ มีคลอง คู และลำกระโดง รวมกัน 1,980 สาย ความยาวรวมประมาณกว่า 2,700 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ถูกรุกล้ำมีสิ่งปลูกสร้างประมาณ 23,500 หลัง ใน 1,161 สาย

แต่ที่หนักหน่วงอยู่ในพื้นที่ 9 คลองสายหลัก มีการรุกล้ำรวมมากถึง 11,039 หลังคาเรือน จึงเป็นแผนพัฒนาระยะเร่งด่วนในการย้ายคนขึ้นฝั่งมาตั้งแต่หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ กทม. เมื่อปี 2554 โดยกทม. ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะมีผลต่อการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ สูงมาก

โดยทั้ง 9 คลอง ประกอบด้วย คลองลาดพร้าว, คลองเปรมประชากร, คลองบางเขน, คลองบางซื่อ, คลองพระโขนง, คลองประเวศบุรีรมย์, คลองสามวา, คลองลาดบัวขาว และคลองพระยาราชมนตรี ในจำนวนนี้นำร่องได้ก่อนที่คลองลาดพร้าวเมื่อปี 2559 หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จัดตั้ง ‘คณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ขึ้นมาดูแลแก้ไข ส่วนคลองเปรมประชา เพิ่งจะดำเนินการไปเมื่อปี 2562 ซึ่งตอนนี้ทั้ง 2 จุด มีความคืบหน้า แต่ยังก้าวไม่พ้นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ เป็นอย่างไร ไปฟังจากผู้ที่รับผิดชอบกันเลย

เป็นเพียงการนำร่องใน 9 คลองหลัก ยังมีแผนระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ในการเร่งพัฒนาคลองที่เหลือ ให้พ้นสภาพการถูกรุกล้ำจากผู้อาศัย, การมีขยะเกิดน้ำเน่าเสีย ขวางทางน้ำ คลองตกอยู่ในตื้นเขิน

ซึ่งเรื่องนี้ต้องฝาก ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. ในอนาคต เข้ามาเร่งปิดช่องว่างการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้คนกรุงพ้นภาวะน้ำรอการระบายได้ซะที

ติดตามทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ : www.ch7.com/bangkokelection