พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของคนไทย โดยในปีนี้ ตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม โดยผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนา คือ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยาตราขบวนพร้อมด้วยเทพีคู่หาบทอง และเทพีคู่หาบเงิน
ส่วนพระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง ซึ่งพระโค ในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวร ซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะ และพระพลเทพดูแล ซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงกำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์
ซึ่งหลังจากพระยาแรกนาได้ทำการไถดะ โดยขวาง 3 รอบ โดยรี 3 รอบ หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวและไถกลบอีก 3 รอบ ได้มีการตั้งของกิน 7 สิ่งเลี้ยงพระโค สำหรับใช้เสี่ยงทาย ประกอบด้วย ข้าวเปลือก, ข้าวโพด, ถั่ว, งา, เหล้า, น้ำ และหญ้า ซึ่งผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย และพระโคกินเลี้ยง ในปีนี้ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่ง 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ ส่วนพระโคกินน้ำ, หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี, ถั่ว พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศจะดีขึ้น เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง
และในโอกาสนี้ เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 16 ราย, สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 11 กลุ่ม สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 4 สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2565 จำนวน 3 สาขา รวม 34 ราย ได้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณด้วย
เกษตรกรในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ใช้ฤกษ์ดีวันพืชมงคล ที่ถือว่าเป็นวันดีและเป็นวันมงคล ในการลงมือทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ
ถือฤกษ์วันพืชมงคลหว่านข้าว จ.ชัยนาท
ชาวนาในตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท ถือฤกษ์ดีลงมือไถนาปลูกข้าว เพื่อความเป็นสิริมงคล เร่งไถที่นา จำนวน 40 ไร่ เพื่อจะได้หว่านข้าว แต่ทุกข์ของชาวนาตอนนี้ ต้นทุนการปลูกข้าวสูงขึ้นมาก เพราะราคาน้ำมัน รวมทั้งค่าปุ๋ยแพงขึ้น ส่วนข้าวขายได้เกวียนละไม่ถึง 8,000 บาท จึงขอให้ฝนตกตามฤดูกาลจะได้มีน้ำเพียงพอจนถึงการเก็บเกี่ยว
ถือฤกษ์ดีปล่อยปลาลงกระชัง จ.นครสวรรค์
ขณะที่ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในบ่อดิน พื้นที่ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมืองนครสวรรค์ ก็ถือฤกษ์ปล่อยปลาสวายลงเลี้ยงในบ่อดิน โดยเป็นการถือฤกษ์สืบทอดกันมาแบบนี้ทุกปี วันนี้ฟาร์มปลาสุเทพ ได้ปล่อยลูกปลาสวายจำนวน 2,000 ตัว ที่ได้ซื้อมาบางส่วน และรับแจกเพิ่มเติม จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์ ทั้งพันธุ์ปลายี่สก ปลานิล ปลาตะเพียน
เขื่อนหลักในพื้นที่ทางภาคอีสาน เตรียมสำรองน้ำให้กับเกษตรกร ในฤดูการผลิตข้าวนาปี และภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับน้ำในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน
เขื่อน เตรียมสำรองน้ำให้เกษตรกร จ.ขอนแก่น
ฤดูร้อนที่ผ่านมา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สามารถจ่ายน้ำเข้าสู่คลองฝั่งซ้ายและคลองฝั่งขวา ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม ตั้งแต่เดือน พฤษจิกายน 2564 ถึง เดือนเมษายน 2565 ใช้น้ำไป 977 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้ง ภาคอุตสาหกรรม พื้นที่การเกษตรกว่า 200,000 ไร่ และรักษาระบบนิเวศ ลำน้ำพอง นอกจากนี้ยังได้ผันน้ำเข้าสู่แม่น้ำชี เพื่อเติมน้ำเข้าสู่ระบบน้ำชีตอนกลาง ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ และในสัปดาห์นี้จะหยุดการระบายน้ำเข้าคลองทั้ง 2 ฝั่ง หลังข้าวนาปรังเริ่มออกรวง สำหรับการใช้น้ำฤดูฝนปีนี้ คาดว่า จะใช้น้ำจ่ายเข้าระบบประมาณ 414 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ เขื่อนอุบลรัตน์ ยังมีปริมาณน้ำใช้งานได้ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร
บริหารจัดการน้ำรองรับปริมาณน้ำ ช่วงฤดูฝน จ.นครราชสีมา
สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 60 เปอร์เซ็นต์ ของความจุ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำลงด้านล่าง เพื่อรักษาระบบนิเวศ วันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทางเขื่อน ได้เตรียมสำรองน้ำ ให้กับชาวนาในเขตพื้นที่คลองชลประทาน ในฤดูทำนา อีก 150 ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องปล่อยน้ำให้ชาวนาอีกแล้ว เพราะชาวนาที่ทำนาปรัง อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวข้าว ขณะที่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เขื่อนยังสามารถรับน้ำได้ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงต้องบริหารจัดการน้ำ ไม่ให้พื้นที่ท้ายน้ำได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม