เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 29 พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ใจความสำคัญที่ให้มีการแก้ไข คือ การเพิ่มช่วงอายุเด็กที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับโทษทางอาญา หากกระทำผิด โดย มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
หากเปรียบเทียบกับมาตรา 73 เดิม เด็กอายุยังไม่เกิน 10 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้น ไม่ต้องรับโทษ
แต่ตามมาตรา 73 ใหม่ แก้เป็นว่า เด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ หมายถึงการเพิ่มช่วงอายุให้มากขึ้นอีก 2 ปี
อีกมาตราที่มีการแก้ไข คือ มาตรา 74 ของเดิม คือ เด็กอายุกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
ซึ่งในฉบับใหม่ มาตรา 74 แก้เป็นว่า เด็กอายุกว่า 12 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
ก็มีการขยายช่วงอายุเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีก 2 ปี เช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะทั่วไปฉบับที่ 10 ของตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตาม จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.แก้ไขนี้ ให้เหมาะสมตามอนุสัญญา
และข้อมูลทางการแพทย์พบว่า เด็กอายุ 12 ปี กับเด็กอายุ 10 ปี ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญา จริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดียังไม่เจริญเติบโตเต็มที่
อีกทั้งเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี อยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทำความผิดเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก
ส่วนที่หลายคนกังวลว่า อย่างนี้เด็กจะทำผิดอะไรก็ได้ ไม่โดนดำเนินการอะไรเลย เป็นความเข้าใจผิด ในกฎหมายระบุชัดเจนว่า หากเด็กตามช่วงอายุที่ดังกล่าวทำผิด ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการอย่างอื่นแทนการดำเนินคดีอาญา ที่ต้องไปจำคุก คือ
การว่ากล่าวตักเตือนเด็ก บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ หรือศาลอาจวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ระวังเด็กที่กระทำผิดไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ไม่เกิน 3 ปี และกำหนดให้ผู้ปกครองชำระการปรับต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท
และสุดท้าย อาจสั่งให้ส่งตัวเด็กที่ทำผิดไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ที่เราจะรู้จักในนามของสถานพินิจเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด จนกว่าเด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี