วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมปีนี้ องค์การอนามัยโลก ชูประเด็นปัญหา บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ที่มีการตัดไม้ ทำลายป่า เพื่อปลูกยาสูบ ส่วนประกอบหลักของบุหรี่ อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ทำให้สารเคมีปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม มากกว่าการปลูกข้าวถึง 10 เท่า
ประเด็นสำคัญคือ มีการสำรวจพบว่า ทั่วโลกมีขยะก้นบุหรี่มากถึง 4.5 ล้านล้านชิ้นทุกปี เฉพาะในไทย พบขยะก้นบุหรี่มากถึง 2.5 พันล้านชิ้นต่อปี ส่วนมากจะพบตามชายหาด และทางเท้า ซึ่งก้นกรองบุหรี่ ใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 2-12 ปี และยังประกอบไปด้วยสารเคมี เช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง ก่อให้เกิดมะเร็ง สะสมในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร สุดท้ายก็จะวนกลับสู่คน
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่า ปี 2557 คนไทยมากกว่า 2 ล้านคน มีโรคประจำตัว เป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง แต่ก็ยังสูบบุหรี่ เป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง และไตเสื่อมเร็วขึ้น
ดังนั้น วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้จึงรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า และสนับสนุนให้ภาครัฐเพิ่มภาษีหรือค่าปรับอุตสาหกรรมยาสูบเพื่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้ผลิตบุหรี่เองควรมีมาตรการแสดงรับผิดชอบต่อเรื่องนี้มากขึ้น