เช้านี้ที่หมอชิต

ธุรกิจบั้งไฟ บนความเสี่ยงขาดทุนซ้ำ จ.ยโสธร

เช้านี้ที่หมอชิต - ปีนี้เราจะได้เห็นประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสานอีกครั้ง หลังงดมานานกว่า 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ขณะนี้ค่ายผลิตบั้งไฟกลับมามียอดสั่งจองและผลิตกันไม่ทัน แต่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะขาดทุน ติดตามรายงานจาก คุณชนะชัย แก้วผาง

ค่ายบั้งไฟแอ๊ดเทวดา ในตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ยังคงช่วยกันเร่งผลิตบั้งไฟให้ทันกำหนดการจัดงานของพื้นที่ต่าง ๆ ในภาคอีสาน แต่พวกเขายอมรับว่าผลิตไม่ทัน เพราะเพิ่งรู้ว่าแต่ละจังหวัดอนุญาตให้จัดประเพณีบุญบั้งไฟได้ โดยให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ทำให้ค่ายต้องเร่งผลิตบั้งไฟให้ทันตามกำหนด

เจ้าของค่ายผลิตบั้งไฟ ยอมรับว่า ธุรกิจของพวกเขาอยู่บนความเสี่ยงขาดทุน เพราะหากย้อนกลับไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ค่ายลงทุนทำบั้งไฟที่สั่งจองไปแล้ว แต่จู่ ๆ ก็ถูกประกาศให้งดจัดงานกะทันหัน ทำให้ขาดทุนเป็นหนี้หลักแสน แม้ว่าปีนี้แต่ละพื้นที่ประกาศให้จัดงานได้ แต่พวกเขายังกังวลว่าจะขาดทุนซ้ำรอยเหมือนปีก่อน ๆ อีกหรือไม่

การทำบั้งไฟเป็นงานละเอียด โดยเฉพาะขั้นตอนของการอัดเจาะ เพราะหากผิดพลาดนั่นหมายถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างจุดบั้งไฟ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ค่ายสามารถผลิตบั้งไฟขนาดใหญ่ ได้เพียงวันละมากสุดก็แค่ 5 บั้งเท่านั้น

การอัดเจาะที่ต้องได้มาตรฐาน และใช้เวลานาน ทำให้ยอดสั่งจองจากลูกค้ายังตกค้างอีกกว่า 30 บั้ง โดยเจ้าของค่ายอยากให้แต่ละจังหวัดขยายเวลาการจัดงานบุญบั้งไฟออกไปอีก 

ธุรกิจการทำบั้งไฟ กำลังฟื้นตัว และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ทั้งกลุ่มเยาวชนที่มารับจ้างผลิตบั้งไฟ โดยเฉพาะช่างทำบั้งไฟ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เพราะการทำบั้งไฟต้องอาศัยช่างที่มีประสบการณ์สูง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในหมู่บ้าน  

ยอดสั่งจองส่วนใหญ่จะเป็นบั้งไฟแสน ที่แยกเป็น 2 ขนาด ราคาขายไม่เกิน 18,000 บาทต่อบั้ง หากหักลบต้นทุนที่แพงขึ้น กลับได้กำไรน้อยกว่าในอดีต อย่างไรก็ตามค่ายบั้งไฟแห่งนี้ ยังคงกล้าจะเผชิญความเสี่ยงขาดทุน โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบั้งไฟที่พวกเขาเร่งผลิตจะถูกระงับห้ามนำไปจุดกะทันหัน  เหมือน 2 ปี ที่ผ่านมาอีกหรือไม่