ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ ปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาช่องทางเพื่อช่วยเหลือเยาวชนในรูปแบบต่างๆ โดยนอกจากจะมีระบบ Mental Health Check In ที่สามารถนำไปใช้ในการประเมินความเครียดเบื้องต้น ยังมีระบบการดูแลสุขภาพจิตโรงเรียนบนระบบดิจิทัลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายใต้ชื่อ School Health HERO ซึ่งจะช่วยลดภาระการใช้เอกสารคัดกรอง คุณครูสามารถเรียนรู้การดูแลช่วยเหลือปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคมของเด็กผ่าน e-learning และให้การช่วยเหลือในชั้นเรียน
หากช่วยเหลือแล้วยังไม่ดีขึ้น สามารถปรึกษาบุคลากรด้านสุขภาพจิต หรือ HERO Consultant ผ่านแอปพลิเคชันได้ ปัจจุบันระบบดังกล่าวได้ดำเนินการในสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. จำนวน 3,444 โรงเรียน เฝ้าระวังความเสี่ยงให้นักเรียนจำนวน 230,891 คน โดยมีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจนดีขึ้นถึง 69.34% ครอบคลุม 46.6% ของอำเภอในประเทศไทย
น.ส.นันทาวดี วรวสุวัส ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีเป้าหมายที่จะขยายไปในช่วงวัยรุ่นในระบบการศึกษาระดับอื่นๆ ซึ่งได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสำรวจถึงความต้องการในการดูแลช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตนักศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ซึ่งพบว่า 93.55% ของหน่วยงานต้องการความช่วยเหลือเพื่อเข้าถึงการแก้ปัญหาที่ตรงจุด