สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2553 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้สนธิกำลังกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จับกุมผู้ต้องหาในคดีพิเศษพร้อมของกลางเฮโรอีน จำนวน 100 แท่ง ที่บริเวณตลาดเมตตา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พันตำรวจโท “ศ.” ขณะเกิดเหตุมียศเป็น "ร้อยตำรวจโท" ตำแหน่งผู้บังคับหมวด กับพวกรวม 9 คน สังกัดกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 334 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ร่วมควบคุมตัวผู้ต้องหา และทำหน้าที่คุ้มกันรักษาความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมในการเดินทางไปตรวจค้นเพื่อขยายผลที่บ้านพักของนาย ป. ผู้ต้องหา
เมื่อตรวจค้นบ้านเสร็จแล้วผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 นาย ได้นำตัวนาย ป. ออกไปจากบ้านที่ตรวจค้น เพื่อไปตรวจค้นที่สวนส้มของผู้ต้องหาโดยลำพัง ไม่มีพนักงานสอบสวนดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นติดตามไปด้วย ไม่ได้แจ้งและไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าชุดปฏิบัติ อีกทั้งยังนำตัวนาย ป. ผู้ต้องหาไปโดยมีพฤติการณ์ที่เร่งรีบ พาตัวผู้ต้องหาไปโดยลำพังหน่วยเดียว ไม่รอกำลังฝ่ายอื่นที่ร่วมปฏิบัติงานทำให้กำลังส่วนที่เหลือไม่สามารถติดตามไปได้
เมื่อไปถึงสวนส้มขณะที่ทำการตรวจค้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวกไม่ควบคุมดูแลผู้ต้องหาให้ใกล้ชิดเพื่อป้องกันการหลบหนี เป็นเหตุให้ ผู้ต้องหาวิ่งหลบหนีไปในป่าข้างทางไปยังแนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร จนไม่สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหานำส่งพนักงานสอบสวนได้
คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้ว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 นาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 204 พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 เป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ต่อมาศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 9 นาย กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ให้จำคุกคนละ 4 ปี ซึ่งพนักงานอัยการเห็นว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ไม่อุทธรณ์ คณะกรรมการ ป.ป.ท. จึงมีมติเห็นชอบไม่อุทธรณ์คำพิพากษา ตามความเห็นของอัยการ