ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวพบมากในกลุ่มที่สนใจทดลองใช้สันทนาการและกินอาหาร เช่น ส้มตำหน่อไม้ กาแฟผสมกัญชาผง คุกกี้กัญชา ซึ่งการพบในอาหารส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ประกอบอาหารหวังเพิ่มรสชาติในอาหารจึงใส่กัญชาเข้าไป ทำให้ผู้บริโภคได้รับกัญชาโดยไม่รู้ตัว ส่วนกลุ่มที่ใช้ทางการแพทย์ยังไม่พบปัญหา ดังนั้น ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ควรบริโภคเลยคือ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคระบบประสาท และผู้ป่วยจิตเวช หรือครอบครัวมีประวัติป่วยจิตเวช ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร ที่สำคัญขอให้ร้านค้าพึงระวังและติดป้ายแจ้งลูกค้าถึงส่วนผสมของเมนูกัญชา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หากได้รับกัญชาและมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถสังเกตได้เบื้องต้น คือ การหายใจผิดปกติ ชีพจรผิดปกติ หากเริ่มไม่รู้สึกตัว ผู้ใกล้ชิดต้องเรียกรถฉุกเฉินทันที
อย่างไรก็ตาม การหยดน้ำมันกัญชาก็เกิดการเสพติดได้ กรมการแพทย์จึงเปิดไลน์บัญชีทางการ (Line OA) “ห่วงกัญ” ให้ประชาชนคัดกรองอาการสงสัยมีภาวะติดกัญชา แต่เบื้องต้นสามารถสังเกตได้ว่า หากใช้กัญชาในปริมาณเพิ่มขึ้น ถี่ขึ้น เริ่มมีอาการอยากยา อาการขาดยา แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อบำบัดรักษา