ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงผลการตรวจสอบดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.65 เวลา 10.30 น. ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุตามที่กล่าวหา ผู้ต้องขังหญิงรายดังกล่าวถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้เข้าพบแพทย์ตามข้อแนะนำของพยาบาลประจำทัณฑสถาน เพื่อรักษาและรับยาต่อเนื่องจากอาการแสบท้องเพราะอดอาหาร โดยมีนพ.ชาตรี จองศิริเลิศ ซึ่งเป็นแพทย์ห้วงเวลา ทำการซักประวัติและอาการ เพื่อวินิจฉัยอาการป่วยและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว ไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย แต่ผู้ต้องขังหญิงรายดังกล่าวได้แจ้งความประสงค์ว่า ไม่ขอรับยารักษาโรค และไม่ขอรับการรักษา รวมถึงไม่ขอรับคำแนะนำจากแพทย์แต่อย่างใด
ขณะที่สอบถาม นพ.ชาตรี แจ้งว่า ในวันที่เกิดเหตุ ได้สอบถามผู้ต้องขัง เพื่อทดสอบระดับสติปัญญา การรับรู้ และระดับความรู้สึก รวมถึงได้สอบถามสาเหตุของการอดอาหาร พร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าควรรับประทานอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยและปวดแสบท้อง พร้อมพูดให้เห็นโทษของการอดอาหาร เพราะจะเกิดผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้ ได้ให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่พยาบาลในการดูแลผู้ต้องขังที่อดอาหารด้วย โดยยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มขู่ เสียดสีใดๆ เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการอดอาหาร และพยายามชักจูงให้ผู้ต้องขังหญิงรายดังกล่าวเลิกอดอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ในฐานะแพทย์เท่านั้น และตลอดเวลาที่ดำเนินการตรวจรักษา ได้มีเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำสถานพยาบาลของทัณฑสถานอยู่ด้วยตลอดเวลาตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOPs) ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า นพ.ชาตรี เคยมีกรณีร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาก่อนนั้น จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีเหตุการณ์ร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นพ.ชาตรี เป็นแพทย์อายุรกรรมที่อุทิศเวลามาดูแลรักษาผู้ต้องขังหญิงภายในทัณฑสถานหญิงกลาง 15 ปีแล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ผิดปกติ หรือข้อร้องเรียนจากผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับการรักษาจากแพทย์คนดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ขอให้สังคมเชื่อมั่นว่าทัณฑสถานหญิงกลางได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOPs) ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangok Rules) ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทุกราย