โดยในด้านเศรษฐกิจพบว่าค่าครองชีพที่พุ่งสูงเพิ่มความเปราะบางต่อภาคการเงินของแต่ละครัวเรือนถึง 75% และค่าครองชีพที่สูงขึ้นประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยกว่า 52% มีรายได้ลดลง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มฐานรากหรือกลุ่มวัยทำงานที่มีรายได้ต่อเดือนไม่คงที่ นอกจากนี้กว่า 62% มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนมากมาจากผลพวงของราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เช่น ราคาน้ำมัน ส่วนในทางสุขภาพ พบว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้คนไทยกว่า 70% เกิดความเครียดและมีสุขภาพจิตเชิงลบมากขึ้น
ผลสำรวจยังพบว่าโดยเฉลี่ยต่อเดือนคนไทย 1 คน จะมีค่าใช้จ่ายคิดเป็น 70% ของรายได้ต่อเดือน โดยเงินส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับค่าอาหารและของใช้ในบ้าน
ส่วนเมื่อถามว่าคนไทยวางแผนรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างไร ผลสำรวจพบว่ากว่า 67% ตั้งใจจะงดหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 50% จะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคหรืออุปโภค และ 43% จะซื้อสินค้าหรือบริการที่ให้ข้อเสนอดีที่สุด
นายแกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้แค่กังวลเรื่องรายได้ที่ลดลง แต่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งแม้ผลการสำรวจจะพบว่าคนไทยจะมีแนวทางชะลอการจับจ่ายลง แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะยาว และสุดท้ายแล้วผลพวงจากปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนไทยในด้านลบมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ตามมา