โดยการทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ ทรงฉีดยานำสลบ และให้ยาสลบเข้าทางหลอดเลือด ทรงใช้ยาดมสลบเพื่อคงภาวะการสลบตลอดระยะเวลาการผ่าตัด จากนั้นทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพของสุนัขด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด ผ่านจอมอนิเตอร์ที่แสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต รวมถึงอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยของสุนัขระหว่างการผ่าตัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเนื้องอกหรือมะเร็งในช่องปากของสุนัขที่รักษาในวันนี้ พบได้ในสุนัขประมาณร้อยละ 6-7 โดยอุบัติการณ์การเกิดโรคพบได้ส่วนใหญ่ในสุนัขที่อยู่ในช่วงวัยชรา ซึ่งสามารถพบได้ในสุนัขทุกสายพันธุ์ ทั้งนี้ สุนัขเพศผู้มีอุบัติการณ์การเกิดโรคมากกว่าเพศเมีย โดยสุนัขที่ป่วยเป็นมะเร็งช่องปากจะพบอาการเบื่ออาหาร น้ำลายไหล มีกลิ่นปาก ใบหน้าบวม กลืนอาหารลำบาก การรักษามะเร็งช่องปากในสุนัขใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัด ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่นการฉายรังสีและการให้เคมีบำบัด