โรคซึมเศร้า อาการโรคซึมเศร้าที่ต้องรีบรักษา

โรคซึมเศร้า อาการโรคซึมเศร้าที่ต้องรีบรักษา

View icon 659
วันที่ 25 มิ.ย. 2565
7HDร้อนออนไลน์
แชร์
โรคซึมเศร้า คืออะไร?

โรคซึมเศร้าคือโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล จึงต้องได้รับการรักษาโดยเร็วด้วยการปรึกษาจิตแพทย์

โรคซึมเศร้า สาเหตุเกิดจากอะไร?

- มีความเครียด
- มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม
- ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
- พบกับความสูญเสียครั้งใหญ่
- สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู

ประเภทของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression)

โรคซึมเศร้าชนิดนี้ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ โดยมากมักมีอาการเศร้าซึมมากจนไม่มีความสุขหรือไม่สนใจในสิ่งต่างๆ ที่เคยชอบ หลับยาก น้ำหนักขึ้นหรือลงฮวบฮาบ รู้สึกหงุดหงิด เหนื่อยๆ เนือยๆ ไม่มีเรี่ยวแรง รู้สึกไร้ค่า ช่วงภาวะซึมเศร้านี้สามารถเกิดในช่วงหลังคลอดได้ และมีอาการหลง หูแว่วประสาทหลอนเกิดขึ้นร่วมด้วย ดังนั้นควรเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้โรครุนแรงขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression)

โรคซึมเศร้าชนิดนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิด เมเจอร์ ดีเพรสชั่น แต่จะมีอาการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี อาการไม่รุนแรงถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่จะรู้สึกไม่อยากอาหารหรือกินมากไป นอนไม่หลับหรือนอนมากไป เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่ค่อยมีสมาธิ การตัดสินใจแย่ลง และรู้สึกหมดหวัง

โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นก่อนมีระดู  (Premenstrual  Depressive Disorder)

ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายก่อนมีระดู  อาการจะดีขึ้นใน 2-3 วันหลังจากมีระดู อาการที่พบบ่อย  คือ  อารมณ์แกว่ง  รู้สึกเศร้า  อ่อนไหวง่าย  ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย  รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง  อาจมีอาการวิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง  รู้สึกล้า อ่อนเพลีย  ไม่อยากทำอะไร  ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง  การนอนผิดปกติไปจากเดิม  และมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย  เช่น  เจ็บเต้านม  เต้านมบวม  ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ  ตัวบวมขึ้น

โรคซึมเศร้า อาการเป็นแบบไหน?

- หงุดหงิด
- เบื่อหน่าย
- นอนไม่หลับ
- สะเทือนใจง่าย
- อารมณ์รุนแรง
- เศร้า หดหู่ ซึม
- ไม่มั่นใจในตัวเอง
- มีความคิดไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้ว

การรักษาโรคซึมเศร้า

- ใช้ยา
- จิตบำบัด
- รักษาด้วยไฟฟ้า (ในรายที่มีอาการรุนแรง)

เหตุผลดี ๆ ที่ควรรักษาโรคซึมเศร้า

1. คุณจะหลับสบายขึ้น โรคซึมเศร้าอาจทำให้คุณนอนไม่หลับหรือตื่นเร็วกว่าปกติ วันต่อมาคุณจะยิ่งอ่อนเพลีย และโรคซึมเศร้าก็จะรุนแรงขึ้นเพราะการที่คุณอดนอนนี่เอง

2. ชีวิตรักดีขึ้น ยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัวอาจทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง แต่บ่อยครั้ง โรคซึมเศร้านี่แหละเป็นตัวการบ่อนทำลายชีวิตรัก เคยมีการศึกษาชี้ว่า ผู้ป่วยกว่า 70% หมดความสนใจทางเพศหากไม่ได้รับยา ทั้งนี้ การรักษาจะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย

3. บรรเทาปวด การรักษาโรคซึมเศร้านอกจากจะทำให้คุณรู้สึกดีแล้วยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งการศึกษามากมายชี้ว่า คนที่มีอาการ เช่น ปวดข้อหรือไมเกรน จะรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นหากมีอาการซึมเศร้า

4. ทำงานได้ดีขึ้น เพราะหากคุณเป็นโรคซึมเศร้า คุณอาจไม่มีสมาธิทำงานและทำผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง

5. สมองเฉียบแหลม ความจำดีขึ้น โรคซึมเศร้าอาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความจำและการตัดสินใจ แต่ไม่ต้องห่วงไปเพราะอาการเหล่านี้รักษาได้

6. ครอบครัวมีความสุข บ่อยแค่ไหนที่คุณรู้สึกโมโหจนไปลงกับคนรอบข้างแล้วมาเสียใจทีหลัง ซึ่งการรักษาจะช่วยให้คุณมั่นคงขึ้น และลดความตึงเครียดในครอบครัว

หากสงใสว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย หรือปรึกษา สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร.1323

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข