โอกาสนี้ ทอดพระเนตรโครงการเก็บรักษาพันธุกรรมพืช เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ตามพระราชดำริฯ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 เพื่อเก็บรักษาพันธุกรรมพืชผัก โดยกองทัพภาคที่ 3 ให้ใช้พื้นที่ 28 ไร่ ในกองพลทหารราบที่ 7 ปัจจุบันดำเนินงาน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ งานเก็บรักษาพันธุกรรมพืชผัก อาทิ พืชในตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลพริก ตระกูลมะเขือ พืชสมุนไพร ผักเครื่องเคียง ดอกไม้กินได้ 2,077 รายการ, การใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืชที่เก็บรักษาไว้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมผัก เป็นสถานที่ทำงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ งานผลิตเมล็ดพันธุ์พืชบำรุงดินในระบบเกษตรอินทรีย์ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นที่อบรมความรู้แก่กำลังพลของกองทัพบก และประชาชน ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ได้พิจารณาจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการฯ โดยจะก่อสร้างสถานีสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบกระจายน้ำ และก่อสร้างหอถังสูง 3 แห่ง เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำได้เพียงพอตลอดทั้งปี
จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่งไปยังโครงการรวบรวมพันธุ์มะม่วงพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สอนวิธีขยายพันธุ์มะม่วง โดยเสียบยอดมะม่วงพันธุ์ดีเข้ากับต้นตอเดิมจากสวนมะม่วงของกองพลทหารราบที่ 7 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์มะม่วง สำหรับการขยายและกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคเหนือ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยนำมะม่วงสายพันธุ์ดี 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมะม่วงกินดิบ เช่น ฟ้าลั่น เขียวเสวย กลุ่มมะม่วงกินสุข เช่น อกร่องทอง น้ำดอกไม้ และกลุ่มมะม่วงทะวาย ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้หลายครั้งต่อปี มาทำการเสียบยอดพันธุ์มะม่วง จำนวน 22 สายพันธุ์ รวม 2,200 ยอด ใช้ต้นมะม่วงเดิม ในพื้นที่ 8 ไร่ 2 งาน ในอนาคตจะสอนวิธีขยายพันธุ์มะม่วงแก่เกษตรกร และกำลังพล เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นวิชาชีพ และในปีนี้ มีมะม่วงคู่ผสมระหว่างมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กับมะม่วงโชคอนันต์ ออกผลลูกผสมผลแรกด้วย
ส่วนโครงการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผล ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตามพระราชดำริฯ เริ่มดำเนินงาน เมื่อปี 2561 จำนวน 8 ไร่ ต่อมาได้ขยายพื้นที่เพิ่มอีก 29 ไร่ เพื่ออนุรักษ์ ปรับปรุง และพัฒนาสายพันธุ์ไม้ผลของไทย เป็นแหล่งเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปรับปรุงพันธุ์ การอนุรักษ์พันธุ์ การดูแลจัดการ และขยายพันธุ์ไม้ผล ดำเนินงาน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ รวบรวมพันธุ์ ปัจจุบัน รวบรวมพันธุ์ฝรั่งเป็นไม้ผลหลัก 78 พันธุ์ และพันธุ์เสาวรส 56 พันธุ์, งานปรับปรุงพันธุ์ โดยการผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปลูกทดสอบผลผลิตกว่า 44 คู่ผสม และมีคู่ผสม 1 คู่ ระหว่างฝรั่งแดง และฝรั่งกิมจู ที่ให้ผลที่โดดเด่น คือ มีผลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ มีการใช้เทคโนโลยี DNA มาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ และย่นระยะเวลาการทำงาน, การใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมฝรั่ง ในการคัดเลือกพันธุ์ฝรั่ง และอบรมการแปรรูปฝรั่ง เช่น ฝรั่งอบแห้ง และใบชาฝรั่ง นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ผลโบราณ เช่น ต้นมะหวด มะพูด และไข่เน่า รวมทั้งบูรณาการภารกิจของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกองพลทหารราบที่ 7 โดยเป็นการเรียนการสอน และการวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ความรู้แก่กำลังพลของกองทัพบก ภายใต้โครงการทหารพันธุ์ดี ด้วยการเรียนรู้และปฏิบัติจริง เพื่อนำความรู้ไปขยายผลยังชุมชนของตนเอง หรือนำไปประยุกต์ใช้เป็นวิชาชีพเมื่อปลดประจำการ
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 7 ดำเนินการในพื้นที่ 73 ไร่ เป็นศูนย์สาธิตการน้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเป็นพื้นที่ทำกินให้กำลังพลและครอบครัว ดำเนินโครงการด้านการเกษตร ได้แก่ ปลูกข้าวเหนียวสันป่าตอง ในโครงการแปลงนาสาธิตเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผักหมุนเวียน โดยนำผลผลิตไปประกอบอาหารในโรงประกอบเลี้ยง และจำหน่ายที่ตลาดหน้าค่าย ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ โครงการเลี้ยงไก่กระดูกดำ เลี้ยงหมูป่าและสุกรพันธุ์เหมยซาน เลี้ยงกระต่ายพันธุ์เนื้อนิวซีแลนด์ไวท์ และด้านประมง มีการเลี้ยงปลานิลจิตรลดา 3 และเลี้ยงปลาในกระชัง โอกาสนี้ ได้พระราชทานอาหารปลาในอ่างเก็บน้ำของโครงการฯ
จากนั้น ทรงเปิดศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งกองทัพภาคที่ 3 สนองพระราชดำริ จัดหาสถานที่รองรับการขยายพันธุ์เป็ดพันธุ์ไข่ เพื่อเป็นแหล่งผลิตลูกเป็ดสนับสนุนแก่หน่วยงานอื่น และให้หน่วยจัดหาตู้ฟักไข่เป็ด กองพลทหารราบที่ 7 จึงดำเนินการเลี้ยงและเพาะพันธุ์เป็ดพันธุ์ไข่กากีแคมป์เบลล์ และเป็ดบางปะกง เพื่อแจกจ่ายให้โรงเรียน ราษฎรในพื้นที่ทุรกันดาร โครงการพระราชดำริที่หน่วยรับผิดชอบ และเกษตรกรที่สนใจ ปัจจุบันมีการแจกจ่ายเป็ดพันธุ์ไข่ไปแล้วกว่า 5,000 ตัว โอกาสนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพ่อ-แม่พันธุ์เป็ดกบินทร์บุรี และลูกเป็ดกบินทร์บุรี พร้อมตู้ฟักไข่ ตู้เกิด และจาน-กก
โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัส แก่ทหารพันธุ์ดีกองพลทหารราบที่ 7 และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง
เวลา 15.00 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดอุโมงค์ (สวนพุทธรรม) อำเภอเมือง ในการนี้ ทรงพระดำเนินเข้าวิหารเจ้าชื่น ทอดพระเนตรภาพยนตร์ และวีดีทัศน์สรุปนิทรรศการ "จากไป กลับมา" รำลึก 20 ปี การจากไปของมณเฑียร บุญมา ศิลปินผู้บุกเบิกแนวทางศิลปะร่วมสมัยของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ซึ่งนายนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ลูกศิษย์ ศิลปินผู้ได้รับรางวัลศิลปาธร ปี 2553 จัดขึ้นเพื่ออุทิศและคารวะแด่อาจารย์ และส่งต่อแรงบันดาลใจ
จากนั้น ทอดพระเนตรผลงานจิตรกรรม "จากไป กลับมา" ภายในโรงภาพปริศนาธรรม ซึ่งย้อนระลึกถึงชีวิตการทำงานของอาจารย์มณเฑียร ในช่วงที่พำนักและสอนนักศึกษาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยโต้ตอบกับวิถีชีวิตท้องถิ่นและสังคมบริโภคนิยม การตีความพุทธปรัชญา ผ่านงานศิลปะ และสอดแทรกปริศนาธรรม
"วิปัสนา ภาชนะ" เป็นผลงานสำคัญของมณเฑียร บุญมา สร้างขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ได้รับแรงบันดาลใจจากการบำเพ็ญทุกกรกิริยา ของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยชามดินเผา สื่อถึงความสมดุลของกายและจิตที่เกิดสมาธิ โดยอ้างถึงพุทธพจน์บทหนึ่งที่กล่าวว่า "ชีวิตสัตว์เหมือนภาชนะดิน ซึ่งล้วนมีความสลายเป็นที่สุด" อาจารย์มณเฑียร เกิดที่กรุงเทพมหานคร จบจากโรงเรียนเพาะช่าง และปริญญาตรี คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี และฝรั่งเศส ต่อมาเป็นอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้เสนอแนะระบบการเรียนแบบสตูดิโอ หรือ “อเตอริเยร์” เพื่อแนะนำและส่งเสริมผู้เรียนให้มุ่งสู่การเป็นศิลปินอาชีพ ร่วมผลักดันให้ตั้งภาควิชาสื่อศิลปะ สนับสนุนให้รวมตัวจัดนิทรรศการต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการก่อตั้งกลุ่ม "เชียงใหม่จัดวางสังคม" โดยใช้พื้นที่วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม เป็นศูนย์กลางการจัดเทศกาลศิลปะ จัดกิจกรรมศิลปะของกลุ่มศิลปิน และนักศึกษา
ภายในงานยังจัดแสดงหนังสือการ์ตูน อุโมงค์อะไรเอ่ย โดย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เล่าถึงประวัติศาสตร์วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรมและชีวิตศิลปิน อาจารย์มณเฑียร บุญมา ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในปี 2543
วัดอุโมงค์ สร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งเมืองเชียงใหม่เมื่อกว่า 700 ปีก่อน โดยพระเจ้ามังรายมหาราช โปรดให้มีวัดป่าเพื่อมุ่งเน้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ต่อมาพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช ได้สร้างอุโมงค์ขึ้นภายในวัด ถวายแด่พระเถรจันท์ พระมหาเถระชาวล้านนา เมื่อพม่าเข้ามาปกครองล้านนา วัดอุโมงค์ถูกปล่อยร้าง ในปี 2490 เจ้าชื่น สิโรรส ผู้มีบทบาทในการวางรากฐานการศึกษา และพุทธศาสนาในเชียงใหม่ ได้จัดตั้งคณะพุทธนิคมเชียงใหม่ และร่วมกันบูรณะวัดอุโมงค์ รวมถึงวัดร้างข้างเคียงเข้าไว้ด้วยกัน ให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ให้ความช่วยเหลือ พร้อมกับนิมนต์ พระปัญญานันทะภิกขุ มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งได้ตั้งชื่อสวนพุทธธรรมต่อท้าย ตามสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยพรรณไม้แบบวัดป่า