กู้เครื่องบิน นกแอร์ ขึ้นรันเวย์สำเร็จแล้ว จ.เชียงราย
ทีมเคลื่อนย้ายเครื่องบิน นกแอร์ เริ่มแผนการกู้กันอีกครั้งช่วงเวลา 4 ทุ่ม แต่ด้วยน้ำหนักของตัวครื่องบินที่มากถึง 41 ตัน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปแล้วก็ตาม ทำให้การดึงล้อ Main landing gear ด้านหลังซ้ายที่จมลึกในดินต้องเป็นไปอย่างระมัดระระวัง เพื่อให้ตัวเครื่องเกิดความเสียหายน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาและอุปสรรคที่คาดไม่ถึงและควบคุมไม่ได้อีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องของสภาพฟ้าฝน หรือแม้กระทั่งเรื่องของสภาพหน้าดินที่ยุบตัว ต้องมีการปรับพื้นดินป้องกันการทรุด โดยถมหินเพิ่มเติมและจะใช้เครนขนาด 50 ตัน ค่อย ๆ ยกเครื่องบิน ส่งผลให้ภารกิจนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ความพยายามก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถดึงล้อขึ้นมาได้ และยกเครื่องบินค่อย ๆ เคลื่อนย้ายออกมาทีละนิด ขั้นตอนนี้กินเวลาอยู่หลายชั่วโมง จนเกือบตี 4 ที่ผ่านมา เครื่องบินทั้งลำก็ขึ้นสู่รันเวย์แล้ว โดยที่ส่วนหน้าของเครื่องที่ล้อหักจากการลื่นไถลออกนอกรันเวย์และจมดิน ถูกแทนที่ด้วยเทรลเลอร์ โดยมีรถลากจูงช่วยในการถ่ายเทน้ำหนัก
ภารกิจหลังจากนี้จะเริ่มตอนเที่ยง โดยใช้รถลากจูงเครื่องบิน และมีรถเทรลเลอร์ที่รองรับส่วนหัวของเครื่องคอยประคอง ค่อย ๆ เคลื่อนย้ายเข้าหลุมจอด คาดว่า ใช้เวลาประมาณ 12 - 15 ชั่วโมง เพราะจากจุดเกิดเหตุไปถึงหลุมจอดอยู่ห่างกันมาก ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปซ่อมแซมระบบไฟ อุปกรณ์ และปรับรันเวย์ เพื่อให้กลับสู่สภาพตามมาตรฐานความปลอดภัย และแจ้งเจ้าหน้าที่จากฝ่ายมาตรฐานสนามบิน ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เข้าตรวจสอบก่อนอนุญาตกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ ซึ่งรายละเอียดของแผนงานต่าง ๆ นาวาอากาศตรีสมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จะเปิดแถลงข่าวอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเวลาจาก 10 โมง เป็นช่วงบ่ายโมงครึ่ง
ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยืนยันความพร้อมในการรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ประสบปัญหา ทั้งขาเข้าและออก โดยช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีเที่ยวบินจากสายการบินต่าง ๆ จากท่าอากาศยานแม้ฟ้าหลวง เชียงราย มาลงท่าอากาศยานเชียงใหม่ ทั้งหมด 38 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารประมาณ 5,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 1,600 คน ส่วนอีก 2 วันที่ประกาศขยายระยะเวลาการปิด คาดว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันใกล้เคียงกัน
นกแอร์ แจง รายละเอียดแผนอพยพผู้โดยสาร
สายการบิน "นกแอร์" ออกประกาศ ชี้แจง ขั้นตอนการอพยพผู้โดยสาร จากเหตุเครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์ ย้ำ ทุกขั้นตอน เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ
หลังเกิดเหตุเครื่องบินของสายการบินนกแอร์ ประสบเหตุ ไถลออกนอกทางวิ่ง Runway Excursion ขณะที่นักบินกำลังนำเครื่องบินลงจอด ที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ล่าสุด สายการบิน นกแอร์ ได้โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ชี้แจงการกู้อากาศยาน และแผนอพยพผู้โดยสาระหว่างเกิดเหตุ โดยเฉพาะ แผนอพยพ ซึ่งถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนัก โดยสาระสำคัญ ชี้แจงว่าในวันเกิดเหตุ ฝนตกหนัก ส่วนนักบินเที่ยวบินดังกล่าว มีอายุชั่วโมงบินสูงถึง 29 ปี และสามารถนำเครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย โดยที่ผู้โดยสาร 163 คนพร้อมลูกเรือ 6 คน ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ซึ่งเกิดเหตุการณ์ ทางนักบินและลูกเรือได้ปฏิบัติตามระเบียบด้านความปลอดภัยสูงสุด โดยติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำผู้โดยสารลงจากเครื่องบินตามขั้นตอน ซึ่งหน่วยกู้ภัยก็มาถึงเครื่องบินภายใน 2 นาทีหลังจากเครื่องจอด
สิ่งที่นักบินทำคือ การดับเครื่องยนต์เพื่อป้องกันประกายไฟไม่เกิดขึ้น, ตัดระบบน้ำมัน ป้องกันน้ำมันรั่วไหล และนักบินได้หารือกับหน่วยงานภาคพื้นในการช่วยดูประกายไฟรอบเครื่องบินก็ไม่มี เครื่องบินไม่เกิดระเบิดแน่นอน นักบินจึงตัดสินใจให้ผู้โดยสารอยู่บนเครื่องบินก่อน เนื่องจากในช่วงนั้นฝนตกหนักและมีฟ้าผ่า ขณะที่อีกฝั่งของเครื่อง มีหญ้าสูง ไม่มีไฟสปอร์ตไลท์ การอพยพผู้โดยสารออกจากเครื่อง ซึ่งด้วยเครื่องบินหัวปักลง จากล้อติดหล่มและหางเชิด จึงต้องให้ผู้โดยสารออกจากเครื่องบินโดยวิธีการใช้ตัวสไลด์ที่ประตูด้านหน้าของเครื่องบิน โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่เป็นเด็กและคนสูงอายุออกจากเครื่องบินก่อน ซึ่งก็เริ่มทยอยออกจากเครื่องบินได้ในเวลา 21.12 น. ด้วยรถเคลื่อนย้ายผู้โดยสารเป็นรถตู้บรรทุกได้ 10 คน และรถพยาบาลบรรทุกได้ 5 - 7 คน ทำให้กว่าผู้โดยสารคนสุดท้ายที่ออกจากเครื่องบินได้จึงใช้เวลาร่วมชั่วโมง ซึ่งการอยู่บนเครื่องบินนานก็ทำให้ผู้โดยสารร้อน และอึดอัด เพราะราว 20 - 30 นาทีหลังดับเครื่องแบตเตอร์รี่ของไฟฉุกเฉินที่เป็นแนวทางเดินแสงสว่างในห้องผู้โดยสารก็แบตหมด ทำให้ผู้โดยสารออกมาบอกว่าร้อนและหายใจไม่ออก ตลอดเวลานักบินและลูกเรือได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ยืนยันว่าที่ผ่านมาสายการบินไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทยอยติดต่อผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบทุกท่าน
ส่วนกรณีผู้โดยสารได้รับสัมภาระ ล่าช้า เพราะถูกคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน หรือ สกอ. สั่งไม่ให้เคลื่อนย้ายกระเป๋า เนื่องจากต้องเข้ามาตรวจสอบก่อน สำหรับการดำเนินการกู้เครื่องบินออกจากรันเวย์สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายนั้น ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565