หลังกลับถึงกรุงเทพฯ 4 วัน วันที่ 13 ก.ค.65 เริ่มมีอาการ ไข้ ไอและมีเสมหะอีก ตรวจ ATK เองให้ผลลบ กินยาปฏิชีวนะไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยมีไข้ ไอ มีเสมหะต่อเนื่อง 10 วัน เริ่มเหนื่อย ผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาหายแล้ว หยุดยาทุกอย่าง 5 ปี ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกา 2 เข็ม และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม
ตรวจร่างกาย มีไข้อุณหภูมิ 39.5 องศาเซลเซียส ฟังปอดผิดปกติทั้ง 2 ข้าง เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวที่ปอดด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา (ดูรูป) ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วต่ำเล็กน้อย 94 ตรวจ ATK และ RT-PCR SARS-CoV2 ให้ผลบวก ค่า RdRp/N-gene (CT Value) 17.4 ส่งตรวจ respiratory virus และ bacteria PCR panel ไม่พบไวรัส และแบคทีเรียตัวอื่นๆที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ตรวจไม่พบเชื้อวัณโรค
“วินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งที่ 2 ให้ยาฉีดเรมเดซิเวียร์ 5 วัน และเสตียรอยด์ทางหลอดเลือด คนไข้ดีขึ้น ไข้ลง ไอน้อยลง ไม่เหนื่อย เอกซเรย์ปอดดีขึ้น หยุดใช้ออกซิเจน ระดับออกซิเจนในเลือดกลับมาปกติ”
หมอมนูญ ระบุด้วยว่า ผู้ป่วยคนนี้ติดเชื้อโควิด 2 ครั้งห่างกันเพียง 19 วัน เชื่อว่าติดเชื้อต่างสายพันธุ์ระหว่างเดินทางในเครื่องบินทั้งขาไปและขากลับ เพราะเวลากินอาหารในเครื่องบินต้องถอดหน้ากากอนามัย ติดเชื้อครั้งที่ 2 รุนแรงกว่าติดเชื้อครั้งแรก ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีน 3 เข็มแล้ว แต่ผู้ป่วยอาจมีภูมิคุ้มกันไม่ดี เนื่องจากเคยป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถึงแม้จะรักษาหายขาด 5 ปีแล้วก็ตาม