เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมก็จะเพิ่มขึ้น

เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมก็จะเพิ่มขึ้น

View icon 86
วันที่ 10 ส.ค. 2565
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด

ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้า อาหาร และค่าครองชีพอื่นๆ ต่างปรับตัวสูงขึ้น มักเป็นช่วงที่มีมิจฉาชีพและอาชญากรรมเพิ่มขึ้น

ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยตัวเลขจำนวนคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความทั้งสิ้นเกือบ 6 หมื่นเรื่องในเวลาเพียง 4 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 31 ก.ค.2565) มีการอายัดเงินไปแล้วร่วม 121 ล้านบาท โดยพบว่าเป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงด้านการเงินมากเป็นอันดับ 1 (รวมกว่า 31,000 คดี) โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. หลอกให้ทำงานออนไลน์ 2. หลอกว่าจะให้กู้เงินแต่กลับไม่ได้เงินกู้ โดยการหลอกลวงทั้งสองแบบนี้ มักจะให้เหยื่อจ่ายเงินค้ำประกันล่วงหน้า และ 3. หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนว่างงานมากขึ้น คนจำนวนมากดิ้นรนเพื่อหารายได้ให้เพียงพอกับการดำรงชีวิตที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

การหารายได้พิเศษจึงเป็นเรื่องที่พบเห็นทั่วไปในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ บ้างก็เป็นการหางานพิเศษทำ และบ้างก็หันไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงินที่ในปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และนี่เองที่เป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพสามารถหลอกลวงผู้คนจำนวนมาก ยิ่งซ้ำเติมประชาชนในสภาวะเช่นนี้

ในช่วงที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูง จึงเป็นช่วงเวลาที่คนที่มีเงินเก็บออมพยายามหาช่องทางที่จะทำให้เงินที่มีอยู่งอกเงยได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก จึงทำให้เป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพประเภทล่อลวงให้เอาเงินมาร่วมลงทุน โดยเอาอัตราผลตอบแทนต่อวันหรือเดือนที่สูงมาเป็นปัจจัยล่อให้นักลงทุนมือใหม่ตกหลุมพราง

ในยุคดิจิทัลทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำในรูปแบบออฟไลน์ เช่น การซื้อของ/อาหารที่ร้านค้า ร้านอาหาร เปลี่ยนมาเป็นการทำกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เช่น การสั่งสินค้าและอาหารจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และเมื่อเกิดโรคระบาด จนต้องมีการรักษาระยะห่าง ปิดร้านค้า/ร้านอาหารอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้ร้านค้าต่างๆ พยายามเข้าถึงลูกค้าโดยมีการขายสินค้าผ่านโซเชียลมากขึ้น และเมื่อหลายคนถูกพักงานในช่วงที่มีการระบาดจนขาดรายได้ จึงหันมาขายของผ่านเพจผ่านโซเชียลเพื่อสร้างรายได้ทดแทน ทำให้สังคมไทยคุ้นเคยกับการซื้อขายสินค้าผ่านสื่อโซเชียล

การทำการซื้อขายอย่างไม่เป็นทางการผ่านโซเชียล มีความเสี่ยงที่ลูกค้าสั่งของแบบชำระปลายทางแล้วไม่อยู่รับของหรือจ่ายเงินเมื่อรับของ พอๆ กับความเสี่ยงที่ลูกค้าจ่ายเงินก่อนแต่ไม่ได้รับของหรือได้ของปลอมคุณภาพของผิดไปจากที่โฆษณาในโพสต์ ทำให้คดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากเป็นอันดับที่สอง ได้แก่ คดีหลอกลวงจำหน่ายสินค้า (รวม 24,643 คดี)
======
นอกจากคดีเหล่านี้ ยังมีการพนันออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อการพนันเหล่านี้เป็นการทำผิดกฎหมาย การหลอกลวงไม่ได้รับเงินตามที่ตกลงไว้ ก็ไม่สามารถแจ้งความเอาผิดกับเจ้ามือที่ปฏิเสธการชำระเงินแก่นักพนันได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลายกรณีที่มิจฉาชีพใช้โทรศัพท์หลองลวงเหยื่อให้กลัวและโอนเงินให้ รวมไปถึงหลอกให้โหลดแอปพลิเคชันแล้วเข้าถึงข้อมูลในแอปพลิเคชันอื่นๆ บนมือถือของเหยื่อ อย่าลืมว่าปัจจุบันมือถือของแต่ละคนก็เหมือนตู้เซฟ เพราะมีแอปพลิเคชันประเภท mobile banking ต่างๆ ของธนาคารที่ทุกคนใช้เข้าถึงบัญชีธนาคารรวมไปถึง wallet (วอลเลตหรือกระเป๋าเงินออนไลน์) ต่างๆ ของตน จึงไม่ควรโหลดแอปพลิเคชันหรือคลิกลิงก์ที่ส่งมาพร้อมข้อความมือถือหรือจดหมายต่างๆ โดยเฉพาะจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก

เพื่อลดโอกาสที่มิจฉาชีพจะใช้โทรศัพท์ แอปพลิเคชัน หรือข้อความต่างๆ เพื่อหลอกลวงเหยื่อ หน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนต่างๆ ควรหยุดใช้ช่องทางดังกล่าวในการติดต่อกับประชาชนหรือลูกค้าเพื่อเสนอขายสินค้าหรือให้บริการ  
======
การแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อประสบเหตุหรือได้เบาะแส จะช่วยลดความเสียหายแก่ส่วนรวมได้ ทั้งนี้ สามารถแจ้งข้อมูลได้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โทร.1212 OCC ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในสังกัดดีอีเอส เพจอาสาจับตาออนไลน์ https://m.facebook.com/DESMonitor/ แจ้งความออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com  สายด่วน บช.สอท. 1441

ทั้งนี้ แม้การแจ้งเบาะแสจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การที่เจ้าหน้าที่จะต้องจัดการกับมิจฉาชีพอย่างทันทีเมื่อได้รับเบาะแส โดยไม่สนว่าจะมีคดีเล็กหรือใหญ่ หรือเป็นคดีดังหรือไม่ โดยไม่รอให้ผู้แจ้งเหตุมีหลักฐานเพียงพอดังเช่นที่มีการปฏิบัติกับการแจ้งคดีอื่นๆ เพื่อระงับเหตุตั้งแต่ยังไม่ขยายเป็นวงกว้าง เนื่องจากคดีออนไลน์นั้นเกิดการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานที่ และยังแพร่กระจายถึงเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว