ทำไมอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้/เงินฝากต้องขึ้นตาม

ทำไมอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้/เงินฝากต้องขึ้นตาม

View icon 228
วันที่ 11 ส.ค. 2565
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หลายคนกำลังกังวลว่าเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน กู้รถ เพิ่มขึ้นตาม และในสถานการณ์ที่ไทยมีหนี้ครัวเรือนสูง ก็กลัวว่า หากขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว จะจ่ายกันไม่ไหว จึงไม่อยากให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในท้องตลาดตามดอกเบี้ยนโยบาย

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด มองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝากมีความจำเป็น เพื่อที่จะให้กลไกเครื่องมือนโยบายทางการเงินได้ทำงานอย่างมีประสิทธิผล เพราะหากไม่ปรับตาม อาจจะมีผลลัพธ์ที่แย่กว่าตามมา

ธนาคารกลางทั่วโลกมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยทั่วไปแล้ว เกิดขึ้นด้วย 2 สาเหตุหลัก

- เพื่อลดภาวะราคาสินค้า/บริการ ค่าเช่าและค่าที่พักอาศัย ค่าครองชีพต่างๆ ที่จำเป็น มีการปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอัตราความเร็วที่เพิ่มขึ้น เรียกว่าภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัว เพราะประเทศส่วนใหญ่ในโลก ใช้นโยบายที่ถูกกำหนดเพื่อรักษาระดับเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คำว่าเหมาะสม คือ ไม่ต่ำไปจนเศรษฐกิจเติบโตไม่ได้ ไม่สูงไปจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนและสร้างความเสี่ยงและความเสียหายต่อธุรกิจโดยรวมของประเทศ 

- เพื่อส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับตัวของเศรษฐกิจไปในทิศทางใด เช่น การสร้างหนี้เพื่อการบริโภคและการเก็งกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น มักจะเกิดในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งหากปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน จะยิ่งมีการก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น จนเศรษฐกิจมีความเปราะบางเกินไป

การจะลดอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ก็ต้องอาศัยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หวังให้ประชาชนลดการใช้จ่าย/ลงทุนฟุ่มเฟือย และการเก็งกำไรทั้งหลาย เพราะต้นทุนของการใช้จ่ายและลงทุนสูงขึ้น

หลายคนมองเพียงแต่ดอกเบี้ยเงินกู้ว่าถ้าสูงขึ้น คนเป็นหนี้จะลำบาก

แล้วคนที่ไม่เป็นหนี้ แต่มีเงินฝากล่ะ คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบระยะยาวมาหลายปีจากการมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ
========
ถ้ามีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยปกติแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับขึ้นเพราะต้นทุนกู้ยืมระหว่างธนาคารเพื่อรักษาสภาพคล่องของธนาคารสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการลงทุน/เก็งกำไรสูงขึ้น แน่นอนว่าในกรณีย่อมกระทบคนเป็นหนี้  แต่จะทำให้การใช้จ่ายชะลอตัว เพราะคนจะไม่รีบสร้างหนี้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะรู้ว่าภาระดอกเบี้ยจะสูงขึ้น

และด้วยกลไกของตลาด จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากด้วย คนจะลังเลระหว่างถอนเงินออกไปใช้ กับฝากเงินไว้กินดอก เพราะถ้าถอนเงินไปใช้ ก็เท่ากับสูญโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่า “ต้นทุนค่าเสียโอกาส”

ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีประสิทธิผลต่อระบบเศรษฐกิจตามต้องการได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนและธุรกิจมีการปรับตัวตามกลไกนี้ ผ่านการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยทั้งสำหรับเงินฝากและสินเชื่อ ระดับของการปรับตัวนี้ ทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่า “ความยืดหยุ่นของอุปสงค์เงินต่อดอกเบี้ย”

ในบางประเทศมีค่าความยืดหยุ่นต่ำ คนไม่ปรับตัว คือปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไงก็ไม่เป็นผล นโยบายทางการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะไร้ประโยชน์ค่ะ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก็มีแต่จะเพิ่มต้นทุนธุรกิจและไม่สามารถหยุดการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
========
จากที่อธิบายไปแล้วจะเห็นว่า ถ้าบังคับไม่ให้ธนาคารขึ้นดอกเบี้ย การส่งผ่านผลของนโยบายทางการเงินจะถูกตัดตอน หรือก็คือค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์เงินต่อดอกเบี้ยเกือบเป็น 0

ถ้าไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ ต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น (ไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก) ทำให้ต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อแต่ละบาทเพิ่มขึ้น

และเพื่อลดต้นทุนในทุกๆ บาทที่ปล่อยสินเชื่อไป สถาบันการเงินก็จะลดการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ … ทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกการปรับตัวฝั่งผู้ให้กู้ว่า “ค่าความยืดหยุ่นของอุปทานเงินต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบาย”

เมื่อลดการปล่อยสินเชื่อ ในขณะที่ธุรกิจอยู่ในภาวะตลาดดอกเบี้ยถูกแล้วอยากจะกู้ไปขยายกิจการ (อย่างที่ภาครัฐหวังไว้) แต่ทำไม่ได้ … สิ่งที่ตามมา ทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่า “ภาวะ credit crunch”

ภาวะ credit crunch คือ ระบบมีเงินแต่ก็ไม่ให้กู้ เพราะทุกบาทที่กู้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น กำไรลดลงหรือไม่มี (ถ้า margin เดิมต่ำอยู่แล้ว) แถมความเสี่ยงที่จะไม่ได้คืนก็สูงด้วย

สิ่งที่จะเกิดตามมาจากการถูกตัดตอน คือ
- อัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงต่อไป เพราะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ส่งผลต่ออุปสงค์ แต่กลับลดอุปทาน
- credit crunch ที่อาจทำให้ธุรกิจขาดแหล่งทุน จนเกิดเศรษฐกิจหดตัว
- ต้นทุนสำหรับสถาบันการเงิน ในประเทศที่มีสถาบันการเงินมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจสูง ภาวะกำไร/ขาดทุนของสถาบันเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อเนื่องต่อภาพรวมเศรษฐกิจในที่สุด
- ค่าครองชีพที่สูงขึ้น … แม้ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เพิ่ม แต่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จะทำให้หนี้ครัวเรือนที่สูงพุ่งต่อไป และความเสี่ยงหนี้สูญก็จะสูงขึ้น เพราะธุรกิจขาดแหล่งเงิน ก็ไม่ผลิต ไม่จ้างงาน ลูกหนี้เมื่อไม่มีรายได้ ก็ไม่มีเงินมาคืนหนี้อยู่ดี
========
กลไกของเครื่องมือและตลาดเกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมมนุษย์ การแทรกแซงกลไกตลาดใดๆ จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง และประเมินผลที่มีต่อเนื่องครอบคลุมทุกกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องและผลในระยะยาว