รายงานพิเศษ : อำเภอบางบาล พื้นที่รับน้ำซ้ำซาก โดยไม่มีข้อแม้ จ.พระนครศรีอยุธยา

View icon 428
วันที่ 14 ก.ย. 2565
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - 15 กันยายนนี้ กรมชลประทาน เตรียมปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ทำให้หลายพื้นที่นอกคันกั้นน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่รับน้ำสำคัญ ที่ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้ชาวบ้านบอกว่าน้ำมาไวผิดปกติ สถานการณ์เป็นอย่างไร หนักหนาแค่ไหน ลงสนามข่าวกับคุณธนโชติ อินต๊ะวิชา

เมื่อพูดถึง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชื่อว่าหลายคนคงติดภาพของน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ก็เช่นเคยเหมือนที่ผ่านมา แต่ชาวบ้านรู้สึกว่าปีนี้น้ำมาไวขึ้น ผิดปกติจากเดิมในช่วงเวลาที่เคยท่วมมา

ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยเฉพาะชุมชนริมคลองบางบาล ตำบลบางหัก ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งทุกปี จึงต้องปรับตัวให้พร้อมรับสถานการณ์อยู่เสมอ อย่าง นายชุมพล จันทร์โส อายุ 68 ปี เก็บข้าวของขึ้นที่สูงเรียบร้อยหมดแล้ว เพราะเดือดร้อนจากน้ำท่วมจนชินชา และไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากปรับตัวเพื่ออยู่กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นให้ได้

ส่วน นางนวลละออ วงใหญ่ อายุ 66 ปี อาศัยอยู่เพียงลำพัง ติดอยู่ภายในบ้านริมคลองบางบาล เปิดใจว่า ในอดีตมีน้ำท่วม แต่สถานการณ์ไม่ค่อยรุนแรงเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา ที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแทบตั้งตัวไม่ทัน น้ำขึ้นมาทุกรายชั่วโมง ทำให้เกิดความวิตกว่า หากมีการปล่อยน้ำเหนือลงมาสมทบเพิ่มอีก จะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้

ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของชุมชนบ้านกุ่ม อยู่ริมโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเหตุให้ถูกน้ำท่วมเป็นประจำ เสียงบ่นของชาวบ้านสะท้อนให้เห็นว่า เลยจุดที่จะเรียกร้องความช่วยเหลือแล้ว และเปรียบเสมือนเป็นวัฒนธรรมที่มาตามนัด แต่ในปีนี้น้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมไวก่อนนัดหมาย เป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะทุกปีน้ำจะมาในช่วงเดือนตุลาคม แต่ตอนนี้แค่ปลายเดือนสิงหาคม เข้าเดือนกันยายน น้ำก็ท่วมหมดแล้ว

นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล พาทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจ พร้อมเปิดแผนรับมือสถานการณ์น้ำ หลังวันที่ 15 กันยายนนี้ ที่กรมชลประทานจะปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนนอกคันกั้นน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำจากที่เคยท่วมอยู่แล้วจะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยเทศบาลได้วางกระสอบทรายเป็นพนังกั้นน้ำ และเตรียมคานเหล็กไว้เสริม หากระดับน้ำเพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งความจริงที่ยากจะปฏิเสธ เหมือนเป็นเอกลักษณ์ประจำพื้นที่ว่า นี่คือ สถานที่น้ำท่วมเพราะความลุ่มต่ำ เมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำหลากจึงเป็นพื้นที่แรกที่รับน้ำก่อน แต่พักหลังมาน้ำเริ่มมีทิศทางเปลี่ยนไป จะมาเป็นระลอก และสร้างความเสียหายหนักและเป็นวงกว้างในทุกครั้งที่น้ำไหลมา

สุดท้ายแล้ว ทุ่งรับน้ำ คือ จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ อำเภอบางบาล มีขนาดใหญ่หลายร้อยไร่ ซึ่งสามารถรองรับการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และขณะนี้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวไปหมดแล้ว จึงพร้อมต่อการเป็นที่อาสารับน้ำโดยไม่มีข้อแม้ แม้ว่าน้ำเหนือจะมาอีกกี่ระลอกก็ไม่มีทางเลือก