วันนี้เรามาไล่เรียงกันดูหน่อยว่า มีข้อกฎหมายอะไรที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณา มีคำชี้แจงไหนที่ต้องดูประกอบ และความเป็นไปได้เกี่ยวกับแนวทางคำวินิจฉัยเป็นอย่างไร ไปตีตรงจุดกัน
ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่คอการเมืองต้องติดตามใกล้ชิด กับการประชุมศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นเป็นนัดที่ 2 เพื่อพิจารณาเอกสารและคำชี้แจงประกอบคำร้อง ปม 8 ปี วาระนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้มีข้อมูลสามส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ประกอบการพิจารณา
ส่วนแรกคือ ข้อกฎหมายหลัก ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคท้าย กำหนด ไม่ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งถือเป็นบทหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นตัวตั้งในการพิจารณาคำร้อง
นอกจากนี้ยังมีความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ซึ่งระบุถึงเหตุผลในการบัญญัติห้ามนายกฯอยู่เกิน 8 ปีไว้ว่า เป็นเพราะไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดอำนาจ จนเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งทางการเมือง
อีกทั้งยังมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ที่ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
โดยในการตีความรัฐธรรมนูญ ยังมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ไปตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยไม่ต้องไปนับวาระให้ยุ่งยากว่าจะเริ่มตอนไหน ไม่ว่าจะเป็นหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือหลังเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นไปตามความมุ่งหมายของมาตรา 158 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจ
แต่อีกฝ่ายเห็นว่า ต้องเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ คือวันที่ 6 เมษายน 2560 เนื่องจากการนำรัฐธรรมนูญไปใช้บังคับย้อนหลัง ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายที่จะมีผลย้อนหลังเฉพาะกรณีที่เป็นคุณเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคเล็กอีก 3 พรรค โดยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นการใช้บังคับย้อนหลังมาแล้ว ด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3
เหตุผลที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก เห็นว่าสามารถใช้บังคับย้อนหลังได้ เพราะเป็นโทษทางการเมือง ไม่ใช่โทษทางอาญา จึงน่าคิดว่าปม 8 ปีนายกฯ ซึ่งเกี่ยวพันกับการดำรงตำแหน่ง ก็ไม่ใช่โทษทางอาญาเช่นเดียวกัน บรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางไว้ในกรณีนี้ จะสามารถนำมาเทียบเคียงได้หรือไม่
จากเรื่องของตัวบทกฎหมาย มาดูคำชี้แจงของ 3 บุคคล ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดกันบ้างว่าชี้แจงกันอย่างไร ซึ่งก็เรียกว่าให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การนับวาระนายกรัฐมนตรี ต้องนับหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว สวนทางกับคำร้องของฝ่ายค้าน ที่ให้นับวาระนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557
มาถึงเรื่องเอกสารที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 500 และ 501 สาเหตุที่เอกสาร 2 ฉบับนี้มีความสำคัญ ก็เพราะความเห็นของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แตกต่างกัน ในการประชุมครั้งที่ 500 ระบุ ให้นับวาระก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้
แตกต่างจากความเห็นที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมีการระบุด้วยว่า บันทึกฯครั้งที่ 500 เป็นการรวบรัดของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังไม่ผ่านการรับรองจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย สวนทางกับเนื้อหาที่ปรากฏในบันทึกฯ ครั้งที่ 501 ที่ระบุว่า มีการรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ไปแล้ว ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเรียกเอกสารทั้ง 2 ฉบับมาพิจารณาประกอบ
ขณะที่ฝ่ายค้านก็ยื่นข้อมูลเพิ่มให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วยว่า นายมีชัย เข้าข่ายเบิกความเท็จต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่
จากข้อมูลทั้งหมดที่ศาลรัฐธรรมนูญมีในขณะนี้ มีการคาดการณ์ว่าเพียงพอที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริง หรือเรียกเอกสารเพิ่มเติม ในการประชุมวันนี้ จึงมีเป็นไปได้ที่จะมีความชัดเจนกำหนดวันอ่านคำวินิจฉัย ซึ่งคาดว่าน่าจะภายในเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากโดยประเพณีปฏิบัติ ถ้าเป็นคำร้องที่มีคู่กรณี ศาลฯจะลงมติเช้า อ่านในช่วงเย็นหรือบ่าย โดยจะนัดล่วงหน้าขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 7 วัน
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีโอกาสออกมาได้ทั้ง 3 แนวทาง
ผลจากคำวินิจฉัย หากพลเอกประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่ารัฐสภาจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์ ได้ไปต่อ พลเอกประวิตร ก็ต้องหยุดการทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี