เชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คงทำให้หลายคนนึกย้อนไปถึงโศกนาฏกรรมที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ 2 ปีเศษที่ผ่านมา จากกรณีนายทหารชั้นประทวน ยิงผู้บังคับบัญชา ก่อนไปกราดยิงคนบริสุทธิ์แบบไม่เลือกหน้า จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 27 คน บาดเจ็บ 57 คน
สุดท้ายคนร้ายถูกวิสามัญฆาตกรรม ตามมาด้วยคำสัญญาของผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพบก ว่าจะมีการปฏิรูปกองทัพ เนื่องจากมูลเหตุจูงใจไม่ใช่แค่เรื่องพิพาทส่วนบุคคล แต่เป็นเพราะเกิดปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา จนนำไปสู่เหตุสลดดังกล่าว แต่ผ่านมา 2 ปีเศษ การปฏิรูปยังไม่เห็น
ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นของกองทัพบก ระบุสาเหตุและแรงจูงใจในการก่อเหตุ ว่าอาจจะเกิดจากความเครียด และปัญหาทางสุขภาพ พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเต็มที่ ส่วนในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยของหน่วย ให้ดำเนินการสอบสวน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียด้วย
สิ่งที่มีการตั้งข้อสังเกตกันจากหลายฝ่าย คือ กองทัพบก มีการตรวจสุขภาพจิตกำลังพล ทั้งก่อนและหลังประจำการหรือไม่ เพราะทหารคือผู้ที่ถืออาวุธ มีหน้าที่ปกป้องประชาชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดสะสม
ไม่เพียงด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติงานที่มีคำแนะนำให้เกิดระบบดูแลต่อเนื่อง แต่อาชีพที่ต้องเกี่ยวพันกับอาวุธ ไม่ว่าจะทหาร หรือตำรวจ ควรกำหนดให้ชัดเจน หน้าที่ไหนจำเป็นต้องครอบครองปืน รวมทั้งปืนส่วนบุคคล ไม่ว่าจะของเจ้าหน้าที่ หรือพลเรือน ต้องมีระบบตรวจสอบการใช้กระสุนปืนได้
แม้การก่อเหตุในครั้งนี้ จะมีคำชี้แจงว่าไม่ได้มีมูลเหตุจากความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน รวมถึงไร้ปัญหาเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าจะด่วนสรุปเกินไปหรือไม่ ว่าผู้ก่อเหตุได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง จนส่งผลต่อเรื่องอารมณ์ปรวนแปรง่าย จึงเกิดคำถามว่าเมื่อเพื่อนร่วมงานต่างก็ทราบว่าคนร้ายมีปัญหา ทำไมจึงไม่ให้ปลดประจำการ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอปฏิรูปกองทัพให้หน่วยงานภายนอกเข้าไปตรวจสอบได้ ไม่เช่นนั้นกองทัพอาจถูกมองว่าเป็นแดนสนธยา เนื่องจากที่ผ่านมากองทัพยังไม่มีความพยายามในการปฏิรูป ในทางกลับกันยังพบปัญหาระบบอุปถัมภ์ ทำให้ไม่สามารถกรองคนที่มีปัญหาออกจากกองทัพได้