20 ก.ย. วันอนุรักษ์และพัฒนา คู คลองแห่งชาติ

View icon 65
วันที่ 21 ก.ย. 2565
เช้าข่าว 7 สี
แชร์
เช้าข่าว 7 สี - 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์และพัฒนา คู คลองแห่งชาติ หลายหน่วยงานออกมารณรงค์ให้ช่วยกันรักษาความสะอาด 

ขณะที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงพื้นที่พัฒนาคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย ยกระดับให้เป็นคลองต้นแบบ แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ภายในเวลา 16 เดือน

รัฐบาลประกาศให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์และพัฒนา คู คลองแห่งชาติ โดย กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบภารกิจพื้นที่ชุ่มน้ำ รณรงค์ให้คนไทยทุกคนช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง ให้ใสสะอาด ไม่ทิ้งขยะจนน้ำเน่าเสีย หรือ ปิดเส้นทางการระบายน้ำ เนื่องจากคลองเป็นเส้นทางสำคัญ ช่วยรับน้ำ และระบายน้ำจากพื้นที่ชุมชนลงแม่น้ำสายหลัก บรรเทาความเดือดร้อนไม่ให้น้ำท่วมขัง

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง ตามโครงการนำร่อง (Pilot Project) ขานรับนโยบายอนุรักษ์แม่น้ำ คู คลอง โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงเรือสำรวจสภาพแวดล้อม คุณภาพน้ำในคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย เป็นคลองระยะสั้น ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งคุณภาพน้ำในคลองสกปรกมาก

ปัญหาจุดนี้ คือ มีบ้านเรือนปลูกอยู่ริมคลองเป็นจำนวนมาก ประชาชนมักทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำ และยังมีตลาดสดคลองเตยที่เป็นตลาดใหญ่ มีของเสียจากตลาดถูกเททิ้งลงมา สะสมเป็นเวลานาน ซึ่ง กรมควบคุมมลพิษ รายงานคุณภาพน้ำในคลองหัวลำโพง มีค่าเน่าเสียสูงมาก โดยเฉพาะค่าแบคทีเรีย กลุ่ม FCB หรือ ที่มาจากการขับถ่ายของมนุษย์ และสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งตามปกติ ค่า FCB ในน้ำต่อ 100 มิลลิลิตร ต้องไม่เกิน 4,000 MPN แต่ปรากฏว่า บางจุดในคลองหัวลำโพงสูงตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน เกินค่ามาตรฐานสูงมาก

เบื้องต้น หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้น แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก จะสร้างผังข้อมูลน้ำ และโมเดลนำร่อง ภายในเวลา 6 เดือน ระยะที่ 2 เริ่มจัดการน้ำเน่าเสีย ใช้เวลาอีก 10 เดือน ส่วนระยะที่ 3 ปรับภูมิทัศน์บ้านเรือน และสำรวจความเข้มข้นของน้ำ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวอีกว่า คลองหัวลำโพง อยู่ใจกลางเมือง และไม่ไกลจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งปลายปีนี้จะมีผู้นำจากทั่วโลก เดินทางมาประชุม APEC 2022 จึงเป็นงานที่ท้าทาย และต้องจัดการให้สำเร็จ