ข่าวออนไลน์7HD

มาตรการลดค่าไฟฟ้า

มาตรการลดค่าไฟฟ้า
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ขอเป็นกระบอกเสียงหนึ่งเรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าในรอบเดือน กันยายน - ธันวาคม 2565 นี้

การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ชี้แจงมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน กำหนดส่วนลด ค่า Ft ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าในรอบเดือน กันยายน - ธันวาคม 2565 ดังนี้

(1) รายที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ได้รับส่วนลดค่า Ft 0.9204 บาทต่อหน่วย
(2) รายที่ใช้ไฟฟ้า 301-350 หน่วยต่อเดือน ได้รับส่วนลดค่า Ft 0.5150 บาทต่อหน่วย
(3) รายที่ใช้ไฟฟ้า 351-400 หน่วยต่อเดือน ได้รับส่วนลดค่า Ft 0.3090 บาทต่อหน่วย
(4) รายที่ใช้ไฟฟ้า 401-500 หน่วยต่อเดือน ได้รับส่วนลด 0.1030 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้การไฟฟ้านครหลวงจะคำนวณส่วนลดค่า Ft ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และให้ส่วนลดค่า Ft ผ่านใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องลงทะเบียนใด ๆ กลุ่มเป้าหมาย คือ ประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้เป็นมาตรการต่อเนื่องจาก ครม. ที่มีมติเห็นชอบกรอบวงเงิน 1,724.95 ล้านบาท ในมาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรค่า (FT) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

“การช่วยลดค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนเป็นหนึ่งในมาตรการหลักของรัฐ” มาตรการช่วยลดค่าไฟฟ้าดำเนินการมาตั้งแต่สถานการณ์เริ่มแพร่ระบาดโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาจนปี 2564 และยิ่งในปี 2565 นี้ มีปัจจัยเรื่องความยืดเยื้อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบเรื่องราคาพลังงานโดยตรง รายละเอียดมาตรการช่วยลดค่าไฟฟ้ามีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ในแต่ละปี กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือขยับตามไปตามสถานการณ์เช่นกัน แต่มาตรการที่ออกมาได้ผลทางนโยบายหรือไม่น่า น่ามาลองย้อนดูกัน

ในปี 2563 ช่วงเดือน มีนาคม - พฤษภาคม เป็นช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 ตึงเครียด หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด รัฐบาลจึงมีมาตรการด่วนเพื่อช่วยเหลือค่าไฟแก่ประชาชน ตามมติ ครม. มุ่งเป้าไปที่ผู้ที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก โดยผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1 ได้รับสิทธิ์ไฟฟ้าฟรี ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 และ 1.3 หากน้อยกว่าหน่วยเดือนฐานก็จะคิดหน่วยตามที่ใช้จริง หากไม่เกิน 800 หน่วย  จะคิดหน่วยเท่ากับหน่วยเดือนฐาน หากเกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย จะคิดหน่วย เท่ากับ หน่วยเดือนฐาน บวกกับ (ส่วนที่เกินจากหน่วยเดือนฐาน คูณ 50%)  หากเกิน 3,000 หน่วย จะคิดหน่วย เท่ากับ หน่วยเดือนฐาน บวกกับ (ส่วนที่เกินจากหน่วยเดือนฐาน คูณ 70%) ต่อมาขยายมาตรการแก่กลุ่มผู้อาศัยและกิจการอื่นเพิ่มเติมอีก 3 เดือน จนถึง มิถุนายน 2563 มีการขยายลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า 6 เดือน แก่กลุ่มโรงแรม กิจการให้เช่าอาศัย การคืนเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ประเภท 1 และ 2 เป็นต้น ล้วนเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือเร็วและครอบคลุมประชาชน รวมถึงกิจการหลายประเภท

ในปี 2564 ช่วง กุมภาพันธ์ - มีนาคม มีมาตรการ ช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  โดย มาตรการที่ 1 บ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1 ค่าไฟฟ้า 90 หน่วยแรกค่าบริการฟรี มาตรการที่ 2 บ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 และ 1.3 หากใช้น้อยกว่าหรือเท่ากับหน่วยเดือนฐาน ค่าไฟฟ้า เท่ากับ หน่วยตามที่ใช้จริง หากใช้ไม่เกิน 500 หน่วย ค่าไฟฟ้า เท่ากับ หน่วยเดือนฐาน หากใช้ไม่กิน 1,000 หน่วย  ค่าไฟฟ้า เท่ากับ หน่วยเดือนฐาน บวกกับ (ส่วนที่เกินจากหน่วยเดือนฐาน คูณ 50%) หากใช้เกิน 1,000 หน่วย ค่าไฟฟ้า เท่ากับ หน่วยเดือนฐาน บวกกับ (ส่วนที่เกินจากหน่วยเดือนฐาน คูณ 70%) มาตรการที่ 3 สำหรับกิจการขนาดเล็กประเภท 2.1 และ 2.2 ค่าไฟฟ้า 50 หน่วยแรกและค่าบริการฟรี เห็นได้ว่าระดับความช่วยเหลือไม่เข้มข้นเท่ากันปี 2563 ต่อมาในช่วง พฤษภาคม - สิงหาคม มีมาตรการเพิ่มสำหรับกิจการขนาดเล็กประเภท 2.1 และ 2.2 ค่าไฟฟ้า 50 หน่วยแรก (ปรับมาเป็น 100 หน่วยแรก ในเดือน กรกฎาคมถึงสิงหาคม) และค่าบริการฟรี และเพิ่มมาตรการสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 ขยายระยะเวลายกเว้น minimum charge เป็นต้น

“มาตรการช่วยลดค่าไฟฟ้าเป็นหนึ่งเรื่องที่ประชาชนคาดหวังสูง” หากพิจารณารายละเอียดตัวอย่างมาตรการที่สรุปมาในช่วงที่ผ่านมานี้ ข้อสังเกตหนึ่งที่เห็นชัด คือ รายละเอียดมาตรการเปลี่ยนแปลงบ่อย อีกทั้งระยะเวลาของมาตรการเป็นช่วงสั้นๆ และทยอยต่อเป็นรอบๆ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะระดับกลางไม่รู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร การวางแผนค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยและการปรับพฤติกรรมครัวเรือนทำได้ยาก ส่วนผู้ประกอบการกิจการทุกระดับมีภาระเรื่องต้นทุนการผลิตสูงขึ้นหลายปัจจัย ล่าสุดปัจจัยเรื่องค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก แนวทางของมาตรการจึงควรมีความต่อเนื่องทีเดียวอย่างน้อย 6 เดือน นอกจากนี้มาตรการที่น่าจะช่วยได้ตรงจุดมากสุดในสถานการณ์ปีนี้ นอกเหนือจากการลดค่า Ft เช่น การลดค่าไฟฟ้า 3% แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท การขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้า  6 เดือน สำหรับบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1 และการผ่อนผันการเก็บค่าไฟฟ้าอัตราขั้นต่ำ (minimum charge) ประเภท 3-7 ซึ่งเป็นกิจการขนาดกลางและใหญ่ โรงแรม องค์กร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ต่อไปอีก เพื่อบรรเทากิจการที่เพิ่งฟื้นตัวและต้อนรับภาคการท่องเที่ยว  เป็นต้น

สถานการณ์ราคาพลังงานยังผันผวนสูง หวังว่ารัฐจะมีมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอีกหรือไม่